โพสต์โดย : ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร วันที่ 17 มีนาคม 2568 , 22:42:08 (อ่าน 889 ครั้ง)
ว.แพทยศาสตร์และการสาธารณสุข ม.อุบลฯ MOUบ.คลินิเซอร์ จำกัด
ขับเคลื่อนงานวิจัยทางคลินิก
---------------------------------
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยทางคลินิก ระหว่าง บริษัท คลินิเซอร์ จำกัดโดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชาอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นผู้ลงนามและมอบหมายให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ แก้วกุลชัย รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ปฏิบัติหน้าที่แทนและนายแพทย์ภุชงค์ ผดุงสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท คลินิเซอร์ จำกัดเป็นผู้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้ ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายแพทย์ประวิ อ่ำพันธุ์ คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุขและนางสาวศศิพร แดงทองดี ผู้จัดการฝ่ายคุณภาพทางคลินิกและอบรมลงนามเป็นสักขีพยาน โดยทั้งสองฝ่ายตกลงทำบันทึกข้อตกลงเพื่อประสานงานในการแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูล และมาตรฐานการปฏิบัติการวิจัยทางคลินิกที่ดี (Good Clinical Practice) และพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลในการดำเนินการวิจัยทางคลินิกให้เป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติการวิจัยทางคลินิกที่ดี และเพิ่มโอกาสสำหรับผู้ป่วยและนักวิจัยของโรงพยาบาลในการเข้าร่วมในงานวิจัยทางคลินิก เมื่อวันจันทร์ที่ 17 มีนาคม 2568ณ ห้องประชุม 401-411อาคารโภชนาการ วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
รองศาสตราจารย์ ดร.ภาวนา พนมเขต รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุขกล่าวว่า ตามที่ ศูนย์บริการวิชาการงานวิจัยทางคลินิก วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุขได้รับการรับรองจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านงานวิจัยทางคลินิกให้กับบุคลากรการแพทย์ของวิทยาลัยฯ และสร้างภาคีเครือข่ายด้านงานวิจัยทางคลินิกร่วมกับหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน ผ่านการให้บริการงานวิจัยทางคลินิก ทั้งนี้ โครงสร้างการทำงานของศูนย์บริการวิชาการงานวิจัยทางคลินิก ประกอบด้วยคณะทำงานที่มีอาจารย์วิทยาลัยแพทย์ฯ และบุคลากรโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีร่วมมือกันในการให้บริการงานวิจัยทางคลินิก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 เป็นต้นมา ทางศูนย์บริการวิชาการงานวิจัยทางคลินิกฯ ได้ให้บริการงานวิจัยทางคลินิกร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชนหลายแห่ง อาทิเช่น บริษัทแกรนด์แปซิฟิก บริษัท คลินเซิร์สเซอร์วิส จำกัด บริษัทวิจัยทางคลินิก โนโวเทค จำกัด และบริษัทโรช ประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งโครงการวิจัยทางคลินิกที่ดำเนินการแล้วล้วนแต่เป็นโครงการที่สร้างประโยชน์ทางการแพทย์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ช่วยเพิ่มศักยภาพบุคลากรแพทย์ด้านงานวิจัย ส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่สำคัญหากงานวิจัยทางคลินิกประสบผลสำเร็จ สามารถพัฒนาต่อยอดเป็นยาหรือ เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่นำมาใช้ได้จริง จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ใหม่ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้คุณภาพของคนไทยดีขึ้น
ทั้งนี้ บริษัทคลินิเซอร์ จำกัด ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่มีศักยภาพด้านการผลิตงานวิจัยทางคลินิก ตลอดจนกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพด้านความรู้ ทักษะ ความชำนาญด้านการทำวิจัยทางคลินิกของบุคลากรการแพทย์ทั้งสถาบันอุดมศึกษาและกระทรวงสาธารณสุข โดยพันธกิจของ บริษัทคลินิเซอร์ จำกัด สอดคล้องกับพันธกิจของศูนย์บริการวิชาการงานวิจัยทางคลินิกฯ จึงนำมาสู่การเจรจา หารือความร่วมมือของผู้บริหารทั้ง 2 สถาบัน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ให้มีผลใช้บังคับ 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม2568 ถึงวันที่ 16 มีนาคม 2573
------------------------------------------------
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว
Tag อื่นๆ : #การจัดการศึกษา#พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน