โพสต์โดย : ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร วันที่ 16 มีนาคม 2568 , 15:47:14 (อ่าน 965 ครั้ง)
ม.อุบลฯ ถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ปร.ด.) ประจำปีการศึกษา 2566
แด่ เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ปสฤทธ์ เขมงกโร สุทธิพันธุ์)
สาขาวิชาสังคมศาสตร์และการพัฒนา
-----------------------------------------
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดพิธีถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ปร.ด.) สาขาวิชาสังคมศาสตร์และการพัฒนาแด่ เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ปสฤทธ์ เขมงกโร สุทธิพันธุ์) ประจำปีการศึกษา 2566เมื่อวันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ณ ศาลาชิน โสภณพนิช วัดยางน้อย ต.ก่อเอ้ อ.เชื่องใน จ.อุบลราชธานี
ในโอกาสที่ สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีมติขอน้อมถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสังคมศาสตร์และการพัฒนา ประจำปีการศึกษา 2566 จึงมีความยินดีประกาศเกียรติคุณเพื่อเชิดชูเกียรติ แด่เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ปสฤทธ์ เขมงฺกโร, สุทธิพันธุ์)กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ อธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหารโดยมี นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เกียรติเป็นประธานจุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย และถวายเครื่องสักการะ ศาสตราจารย์พิเศษจอมจิน จันทรสกุล นายกสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ถวายปริญญาบัตร (พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ 10 รูปเจริญชัญชัยมงคลคาถา) รองศาสตราจารย์ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาอุบลราชธานี อ่านคำประกาศสดุดีเกียรติคุณ เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ปสฤทธ์ เขมงฺกโร, สุทธิพันธุ์) และถวายครุยวิทยฐานะ รองศาสตราจารย์ปภัสวดี วีรกิตติ ถวายประกาศสดุดีเกียรติคุณ นางสาวจันทิมา ธนาสว่างกุล ถวายประกาศมหาวิทยาลัย เรื่อง ถวายปริญญา นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ถวายผ้าไตร นายศักดิ์สิทธิ์ ศรีภา ถวายตาลปัตรและย่าม รองศาสตราจารย์สุรศักดิ์ คำคง ถวายพวงมาลัยและ นายทรงพล อินทเศียร ถวายของที่ระลึก จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายกสภามหาวิทยาลัย คณะผู้บริหารและผู้ทรงคุณวุฒิ ถวายจตุปัจจัยไทยธรรมและของที่ระลึกแด่ พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ 10 รูป ในโอกาสนี้เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ปสฤทธ์ เขมงฺกโร, สุทธิพันธุ์) กล่าวสัมโมทนียกถา อนุโมธนาในกุศลและเจตนาของผู้บริหารมหาวิทยาลัยพร้อมธรรมโอวาทและมอบของที่ระลึก แด่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมหรือผู้แทน ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณาจารย์ ข้าราชการ และแขกผู้มีเกียรติ พร้อมร่วมถ่ายรูปเป็นที่ระลึก
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย รองศาสตราจารย์ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาอุบลราชธานี เป็นผู้อ่านคำประกาศสดุดีเกียรติคุณเพื่อเชิดชูเกียรติ แด่เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ปสฤทธ์ เขมงฺกโร, สุทธิพันธุ์) กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ อธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ความว่า“เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ นามเดิม ปสฤทธ์ เกิดวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2480 ณ บ้านยางน้อย ตำบลก่อเอ้ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันอายุ 87 ปี โดยปี พ.ศ. 2491 จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนประชาบาล (พรหมพิทยา) บ้านยางน้อย ต.ก่อเอ้ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี ปี พ.ศ. 2491 สอบได้นักธรรมชั้นตรี ปี พ.ศ. 2492 สอบได้นักธรรมชั้นโท ในสำนักเรียนวัดยางน้อย ต.ก่อเอ้ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี ต่อมาปี พ.ศ. 2493 สอบได้นักธรรมชั้นเอก ในสำนักเรียนวัดมณีวนาราม อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี พ.ศ. 2501 สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค ในสำนักเรียนวัดจักรวรรดิราชาวาส วรมหาวิหาร กรุงเทพฯ จากนั้น ปี พ.ศ. 2503 จบชั้นบาลีอบรมศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพฯ
ด้วยความเป็นผู้ใฝ่รู้และมุ่งมั่นในการศึกษาจึงทำให้เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ได้ค้นคว้าแสวงหาความรู้อย่างลุ่มลึก ครอบคลุมในหลากสาขาวิชาทั้งทางด้านพุทธศาสนา การพัฒนาสังคม ดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ และด้านการบริหารกิจการคณะสงฆ์ สามารถใช้องค์ความรู้เหล่านั้นแก้ไขปัญหาให้กับพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ได้รับการถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ในด้านต่าง ๆ มากมาย อาทิ สาขาสังคมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาภาษาไทย จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับรางวัลพุทธคุณูปการ ประเภทวัชรเกียรติคุณ จากคณะกรรมาธิการ การศาสนาศิลปะวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2519 ได้รับโล่เกียรติคุณ Distinguished Award สังคมสงเคราะห์ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย จาก The Board Of Directors Of Asian Human Service Of Chicago ซึ่งเกียรติคุณนี้ เป็นเกียรติคุณที่พระสงฆ์ไทยและคนไทยคนแรกได้รับ
เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เป็นพระเถระที่มีบทบาทสำคัญและมีคุณูปการต่องานสังคมสงเคราะห์ และดำรงตำแหน่งฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ มหาเถรสมาคม ได้ดำเนินนโยบายการสงเคราะห์ประชาชนชาวพุทธด้วยการนำพาคณะสงฆ์ทั่วประเทศดำเนินโครงการสงเคราะห์ประชาชนผู้ได้รับความลำบากและได้จัดระบบความช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนเกือบทุกสถานการณ์ นับจากปี พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา ได้ดำเนินกิจการและวางนโยบายด้านสาธารณสงเคราะห์ให้มีคุณภาพและมีรูปธรรมชัดเจนภายใต้หลักการพระพุทธศาสนากับการนำพาสังคม ได้กำกับให้คณะสงฆ์ทั่วประเทศสอดส่อง ดูแล และตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชน โดยนำพาคณะสงฆ์ออกช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยต่าง ๆ เช่น อุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย รวมถึงผู้ที่ประสบอุปัทวเหตุ ให้การสงเคราะห์คนชรา คนพิการและผู้ด้อยโอกาสในหลายพื้นที่ทั่วภูมิภาคของไทย เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ได้ใช้ทั้งความรู้ทางพระพุทธศาสตร์ ประสบการณ์และความรู้ในหลากสาขาวิชาในการช่วยเหลือสงเคราะห์ประชาชน ดำรงตนเป็นแบบอย่างพระสงฆ์นักสังคมสงเคราะห์ ได้แต่งตั้งให้มีคณะทำงานด้านดังกล่าวดำเนินนโยบายสู่ภาคปฏิบัติ โดยให้ก่อตั้งศูนย์การสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคมเป็นสำนักงานกลาง และได้ให้คณะสงฆ์จัดตั้งศูนย์การสาธารณสงเคราะห์ประจำจังหวัดเพื่อช่วยเหลือสังคมตามแนวพระพุทธศาสนา อีกทั้งเป็นประธานสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริการูปแรกที่มีหลักบริหารองค์กรและกำหนดศาสนกิจอันเป็นประโยชน์แก่คณะสงฆ์ ดำเนินภารกิจศาสนาสงเคราะห์ให้แก่พุทธศาสนิกชนชาวไทยในประเทศสหรัฐอเมริกาและชาวเอเชียทั้งมวลในเกือบทุกมลรัฐ ทั้งยังได้รับเป็นประธานอุปถัมภ์และที่ปรึกษาในการสร้างวัดพุทธลาวและวัดพุทธกัมพูชา แห่งรัฐอิลลินอยส์ จนวางรากฐานให้อารามเหล่านั้นเป็นแหล่งสงเคราะห์ประชาชนที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาได้มีที่พึ่งทางใจอย่างมั่นคง
ประการสำคัญเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ถือเป็นพระเถระรูปสำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี และได้เป็นผู้มีคุณูปการต่อการพัฒนาพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีเป็นอเนกประการ อาทิ ได้นำปัจจัยส่วนตัวและผู้มีจิตศรัทธาถวายช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ปี พ.ศ. 2564 อย่างเร่งด่วน ดำเนินการพัฒนาด้านสาธารณสุขให้เกิดกับชุมชนบ้านยางน้อย การอนุรักษ์ผืนป่าและธรรมชาติเพื่อแก้ไขความแห้งแล้งและส่งเสริมอาชีพให้ประชาชนชาวอำเภอเขื่องใน ดำริและเป็นประธานในการจัดสร้างโรงพยาบาล 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ จัดการแก้ปัญหาที่ดินสาธารณะเพื่อการพัฒนาใช้ประโยชน์ส่วนรวม สร้างอุทยานการศึกษาและอุทยานเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษกในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ทั้งเป็นประธานกรรมการพัฒนาโครงการส่งเสริมศิลปาชีพฯ บ้านยางน้อย จังหวัดอุบลราชธานี เฉลิมพระเกียรติในวโรกาสมงคลสมัยเจริญพระชนมพรรษา 72 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เป็นผู้ที่ตั้งมั่นในพระธรรมวินัย กอปรด้วยสติปัญญา และได้ใช้ความรู้ในศาสตร์ต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนชาวจังหวัดอุบลราชธานี ได้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณชนเป็นที่ประจักษ์ มีคุณูปการต่อการสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์ไทยและอำนวยให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีมาเป็นเวลายาวนานกว่า 50 ปี ยึดมั่นการสาธารณะสงเคราะห์เป็นหลักการสำคัญประการหนึ่งในสาขาวิชาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนา มีผลการดำเนินการที่ทรงคุณค่าเป็นที่ประจักษ์และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ด้วยคุณูปการดังกล่าวมาแล้ว สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในการประชุมครั้งที่ 10/2567 (ลับ) เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2567 จึงน้อมถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสังคมศาสตร์และการพัฒนา แด่เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เพื่อเป็นการยกย่องและประกาศเกียรติคุณให้ปรากฏสืบไป”
-----------------------------------------
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ข่าว/ภาพ ทีมงานประชาสัมพันธ์ฯ ม.อุบลฯ
ประมวลภาพ พิธีถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ฯ
ภาพชุดที่ 1 https://drive.google.com/drive/folders/101Cn_LIpJV6qkjlAKMrAAccbNMJU-krz?usp=sharing
ภาพชุดที่ 2 https://drive.google.com/drive/u/0/folders/1FgFGpS8pNv4SKYLxHx81q1XoeJhQhY1f