มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี : Ubon Ratchathani University
 นักศึกษา    บุคลากร    ศิษย์เก่า   UBU English       |      




ม.อุบลฯ ร่วมพิธีถวายเครื่องราชสักการะ พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย วันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2568


โพสต์โดย : ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร     วันที่ 7 มีนาคม 2568 , 15:14:01     (อ่าน 1,104 ครั้ง)  



ม.อุบลฯ ร่วมพิธีถวายเครื่องราชสักการะ “พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย”

วันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2568

-----------------------------------

         มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์  ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดี มอบหมายให้ นางสาวมัณฑนา  เจือบุญ ผู้อำนวยการกองกลาง สำนักงานอธิการบดี ในนามตัวแทนมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีพร้อมบุคลากรร่วมพิธีถวายเครื่องราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร “พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย” เนื่องในวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2568 โดยมี ว่าที่พันตรี อดิศักดิ์  น้อยสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีเป็นประธานประกอบพิธีถวายราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ โดยมีข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ภาคเอกชน องค์กรอิสระ และประชาชน ร่วมถวายราชสักการะ วางพานพุ่มดอกไม้สดโทนสีขาวหรือสีเหลือง และถวายราชสดุดีเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย” เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย จัดโดย สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 7 อุบลราชธานี เมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 มีนาคม 2568 ณ อาคารอเนกประสงค์ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 7 อุบลราชธานี

          สืบเนื่องจากวันนี้ เมื่อปีพุทธศักราช 2513 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงานแนะแนวอาชีพและแข่งขันฝีมือช่างแห่งชาติ ณ ลุมพินีสถาน และพระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับการช่างของไทย ความตอนหนึ่งว่า “ช่างทุกประเภท เป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตของบ้านเมืองและของทุกคน เพราะตลอดชีวิตของเรา เราต้องอาศัยและใช้บริการหรือสิ่งต่าง ๆ ที่มาจากฝีมือของช่างอยู่ทุกวี่ทุกวัน ผู้เป็นช่าง จึงสมควรได้รับความเอาใจใส่สนับสนุนจากทุก ๆ ฝ่าย ยิ่งในสมัยปัจจุบันวิทยาการทุกอย่างเจริญก้าวหน้า ยิ่งจำเป็นต้องส่งเสริมมากเป็นพิเศษ เพื่อให้ได้ช่างที่มีความสามารถสูง ให้มีสิ่งใช้สอยที่มีคุณภาพดีและเพียงพอกับความต้องการ ในการส่งเสริมนั้น มีปัญหาอันควรจะได้พิจารณาช่วยเหลืออยู่สามประการ ประการแรก ได้แก่ ปัญหาเรื่องการให้ความรู้ทางหลักวิทยาการ และความรู้ทางการออกแบบ ประการที่สอง ได้แก่ ปัญหาเรื่องฝีมือ ซึ่งจะต้องปรับปรุงให้มีความประณีตและประสิทธิภาพได้มาตรฐานจริง ๆ ประการที่สาม ได้แก่ ปัญหาเรื่องการจัดหางานและหาตลาด เพื่อช่วยให้ช่างได้มีงานทำ มีตลาดที่จะส่งสินค้าที่ผลิตได้ไปจำหน่าย การช่วยเหลือทั้งสามประการนี้ จะต้องกระทำให้สอดคล้องกันไป เพื่อให้ช่างมีรายได้และผลกำไร สำหรับนำมาเป็นทุนรอนสร้างฐานะและความก้าวหน้า” พระองค์ได้ฝากความคิดนี้ไว้เป็นแนวทางปฏิบัติที่สำคัญ จากกระแสพระราชดำรัสดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงสายพระเนตรอันยาวไกลที่มีพระราชดำริถึงความสำคัญของช่างฝีมือ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อทุกคนในสังคม จึงจำเป็นต้องพัฒนาให้มีฝีมือตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพราะนั่นหมายถึงคุณภาพของสินค้าและบริการตลอดจนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อประเทศไทย ยังคงทันสมัยและนับวันจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ซึ่งกระทรวงแรงงานได้น้อมนำใส่เกล้ามาปฏิบัติ ในการพัฒนากำลังแรงงานให้มีฝีมือ พัฒนาสู่มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งด้านการผลิตสินค้าและบริการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ สร้างการยอมรับในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและประชาคมโลก

          ตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 เพื่อเทิดพระเกียรติ น้อมระลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และถวายราชสดุดีในพระปรีชาสามารถทางด้านการช่างของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย” รวมทั้งทรงให้ความสำคัญในการพัฒนาฝีมือแรงงานของช่างไทยให้มีความเป็นมาตรฐาน และกำหนดให้ทุกวันที่ 2 มีนาคมของทุกปี เป็น “วันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ”

------------------------------------------------

ทิพย์วรรณ  เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ข่าว/กองกลาง ม.อุบลฯ




SDG Hashtag :

Tag อื่นๆ :