โพสต์โดย : ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2568 , 18:21:02 (อ่าน 1,745 ครั้ง)
ม.อุบลฯ พัฒนาโปรแกรมบัญชีสำหรับสถาบันการเงินชุมชน
กรณีศึกษา กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านโนนเค็ง
--------------------------------------
“โปรแกรมบัญชีสำหรับสถาบันการเงินชุมชน” เป็นผลงานวิจัยจากโครงการวิจัย การพัฒนาโปรแกรมบัญชีสำหรับสถาบันการเงินชุมชน กรณีศึกษา กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านโนนเค็ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากเงินรายได้คณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาโปรแกรมบัญชีสำหรับสถาบันการเงินชุมชนที่มีประสิทธิภาพ โดยเลือกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านโนนเค็ง จากการนำ “โปรแกรมบัญชีสำหรับสถาบันการเงินชุมชน” ให้กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านโนนเค็งใช้งาน พบว่า คณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านโนนเค็ง และสมาชิกมีความพึงพอใจต่อโปรแกรมอยู่ในระดับมากที่สุดในทุก ๆ ด้าน ได้แก่ ด้านการประมวลผลของระบบ ด้านการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล ด้านความสามารถในการจัดทำรายงาน ด้านความง่ายและความสะดวกในการใช้งาน และด้านความคุ้มค่า สำหรับความ พึงพอใจของสมาชิกภายหลังการใช้โปรแกรมบัญชี
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย คณะผู้วิจัยคณะบริหารศาสตร์ ดำเนินการวิจัยและการพัฒนาโปรแกรมบัญชีสำหรับสถาบันการเงินชุมชน กรณีศึกษา กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านโนนเค็ง การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโปรแกรมบัญชีสำหรับสถาบันการเงินชุมชนที่มีประสิทธิภาพ และศึกษาความพึงพอใจของคณะกรรมการต่อประสิทธิภาพของโปรแกรมบัญชีสำหรับสถาบันการเงินชุมชน ร่วมทั้งศึกษาความพึ่งพอใจของสมาชิกต่อการใช้บริการของกลุ่มออมทรัพย์จากการใช้โปรแกรมบัญชีสำหรับสถาบันการเงินชุมชน โดยการวิจัยเชิงนวัตกรรมเพื่อตอบความสนองความต้องการของชุมชน ซึ่งใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสมผสานระหว่างการวิจัยเชิงคุณภาพ และวิจัยเชิงปริมาณ ด้วยกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม และการสนทนากลุ่มร่วมด้วย ประชากร คือ คณะกรรมการและสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านโนนเค็ง จำนวน 482 คน ซึ่งมีกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม ได้แก่ คณะกรรมการ 15 คน สมาชิก 219 คน โดยใช้สูตร Taro Yamane ที่ระดับความคลาดเคลื่อน 5%
ผู้ช่วยศาสตราจารย์รินทร์ลภัส ชัยหิรัญกิตติ์ คณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พร้อมคณะ กล่าวว่า การวิจัยโปรแกรมบัญชีสำหรับสถาบันการเงินชุมชนครั้งนี้ เป็นการใช้เครื่องมือวิจัย ประกอบด้วย แบบสัมภาษณ์เชิงลึกที่มีโครงสร้างสำหรับผู้นำและคณะกรรมการ การประชุมกลุ่มย่อยและการสนทนาร่วมกันสำหรับการวิเคราะห์ กลุ่ม แบบสอบถามสมาชิกต่อความพึงพอใจก่อนและหลังจากนำโปรแกรมบัญชีสำหรับสถาบันการเงินชุมชนมาใช้ แบบสอบถามคณะกรรมการถึงประสิทธิภาพการทำงานของโปรแกรมบัญชีสำหรับสถาบันการเงินชุมชุมชน และเครื่องมือสำหรับพัฒนาโปรแกรมรมระบบและฐานข้อมูลที่นำมาใช้ในการจัดการข้อมูลสารสนเทศ ได้แก่ ภาษา PHP5 เป็นภาษา (ScriptLanguage)/ ภาษา Java Script และ CSS (Cascading Style Sheets) / Apache Web Server Version 13.31/ระบบบริหารจัดการฐานข้อมูล MySQL 4.0.20 / Atom IO Editorพบว่าโปรแกรมบัญชีสำหรับสถาบันการเงินชุมชนที่มีประสิทธิภาพ แบ่งเป็น 2 ระบบใหญ่ คือ ระบบสำหรับผู้บริหารกลุ่มสถาบันการเงิน และระบบสำหรับสมาชิกกลุ่ม โดยในแต่ละระบบมีการแยกหมวดหมู่เพื่อรองรับการใช้งาน ได้แก่ ระบบสำหรับผู้บริหารกลุ่มสถาบันการเงิน ประกอบด้วย 8 ระบบย่อย ระบบสำหรับการเข้าสู่ระบบและตั้งค่าระบบ ระบบสร้างข้อมูลสมาชิก ระบบฝากเงิน ระบบถอนเงิน ระบบเงินกู้ ระบบรับชำระเงินกู้และดอกเบี้ย ระบบเงินปันผล และระบบการจัดทำบัญชีและงบการเงิน สำหรับระบบในฝ่ายของสมาชิก เพื่อให้สมาชิกสามารถตรวจสอบรายการได้เองผ่านระบบสมาร์ทโฟน ซึ่งประกอบด้วย 4 ระบบย่อย ได้แก่ ระบบตรวจสอบสิทธิ์การใช้งานสำหรับสมาชิก ระบบตรวจสอบยอดเงินฝากสำหรับสมาชิก ระบบตรวจสอบยอดชำระเงินกู้และยอดชำระดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับสมาชิก และระบบแก้ไขข้อมูลสมาชิก
สำหรับความพึงพอใจของคณะกรรมการที่มีต่อโปรแกรมอยู่ในระดับมากที่สุดในทุก ๆ ด้าน ได้แก่ ด้านการประมวลผลของระบบ ด้านการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล ด้านความสามารถในการจัดทำรายงาน ด้านความง่ายและความสะดวกในการใช้งาน และด้านความคุ้มค่า สำหรับความพึ่งพอใจของสมาชิกภายหลังการใช้โปรแกรมบัญชี พบว่ามีความพึงพอใจเฉลี่ยมากกว่าก่อนการใช้โปรแกรมบัญชีแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ความพึ่งพอใจเฉลี่ยในภาพรวมของสมาชิกจำแนกตามเพศ ช่วงอายุ ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ต่อคุณภาพบริการของกลุ่มออมทรัพย์ พบว่า เพศ ช่วงอายุ ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ที่แตกต่างกัน ความพึงพอใจเฉลี่ยไม่มีความแตกต่างกัน
โครงการวิจัยเรื่อง "การพัฒนาโปรแกรมบัญชีสำหรับสถาบันการเงินชุมชน กรณีศึกษา กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านโนนเค็ง" เป็นความร่วมมือของคณะผู้วิจัยนำทีมโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์รินทร์ลภัส ชัยหิรัญกิตติ์ นายดุสิต ศรีสร้อย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปวีณา คำพุกกะ คณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะจากการวิจัย โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาโปรแกรมบัญชีสำหรับสถาบันการเงินชุมชนที่มีประสิทธิภาพ โดยเลือกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านโนนเค็ง ซึ่งกลุ่มมีการบริหารจัดการที่มีการพัฒนาจากเดิมที่ยังไม่มีระบบการบริหารจัดการทางบัญชี ทั้งการฝากถอน กู้ยืม ที่เป็นระบบไม่มีเอกสารที่สามารถให้การทำงานสะดวก แต่กลุ่มได้ทำการพัฒนามาเป็นลำดับ เริ่มจากการวางระบบบัญชี ขั้นตอนการฝาก ถอน กู้ยืม รับสมัครสมาชิก การออกงบการเงิน มีการนำเอกสารฝาก ถอน กู้ยืม ที่เหมือนระบบธนาคารมาใช้ แต่ยังคงใช้การจดบันทึกบนกระดาษ (MANUAL) เมื่อกรรมการและสมาชิกมีความคุ้นชินจึงได้ทำการพัฒนาต่อยอดพัฒนาระบบโปรแกรมบัญชีขึ้นมาใช้ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีสารสนเทศ ที่เป็นระบบโปรแกรมบัญชีสำหรับสถาบันการเงินชุมชน และการใช้งานของสมาชิกผ่านระบบออนไลน์ จนสามารถประสบความสำเร็จได้ จะเห็นได้ว่ากลุ่มออมทรัพย์ต่าง ๆ ในประเทศไทยจะมีลักษณะของธุรกรรมทางการเงินที่คล้ายคลึงกันแต่ก็ยังมีอีกหลายกลุ่มที่มีขนาดใหญ่มีเงินทุนมากขึ้นและมีการขยายการทำธุรกรรม เช่น การให้สมาชิกกู้ยืมในรูปแบบซื้อสินค้า ผลิตภัณฑ์การเกษตร ปุ๋ย เครื่องมือการเกษตร จึงทำให้การออกแบบของโปรแกรมมีความซ้ำซ้อนมายิ่งขึ้น นอกจากนี้ปัญหาสำคัญของการใช้โปรแกรม คือบุคลากรที่ต้องเรียนรู้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบที่ง่ายต่อการใช้งาน ในการเลือกพื้นที่ที่จะศึกษาควรเลือกกลุ่มที่มีความพร้อมและเต็มใจที่จะพัฒนาก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลง และมีระบบการบริหารจัดการที่ดีในระดับหนึ่ง
----------------------------------------
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ