โพสต์โดย : เพลิน วิชัยวงศ์ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 , 09:04:18 (อ่าน 135 ครั้ง)
นายคาเจนดรา ซิงห์ เชคฮาวัต(Gajendra Singh Shekhawat) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวอินเดีย พร้อมคณะทูตานุทูตจากทั่วโลก ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดเทศกาลหัตถกรรมนานาชาติสุรัชกุนด์ ครั้งที่ 38 (Surajkund International Crafts Mela) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 – 23 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อเฉลิมฉลองศิลปะ วัฒนธรรม และงานหัตถกรรมจากทั่วทุกมุมโลก บนพื้นที่กว่า 45 เอเคอร์ มีบูธงานหัตถกรรมกว่า 1,250 หลัง และมีช่างฝีมือพร้อมศิลปิน กว่า 2,500 คน จากทั่วประเทศอินเดียและนานาชาติ 42 ประเทศเข้าร่วม นับเป็นหนึ่งในแสดงสินค้าหัตถกรรมที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกและใหญ่ที่สุดในอินเดีย
โดยในปีนี้ สถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย ได้คัดเลือกและสนับสนุนการเดินทางให้กับคณะนักแสดงวัฒนธรรม ศิลปิน และช่างหัดถกรรม จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและเครือข่ายการวิจัยและบริการวิชาการ เพื่อเป็นผู้แทนประเทศไทย นำเสนอความงดงามของวัฒนธรรมและหัดถศิลป์เมืองอุบลฯ ในเทศกาลดังกล่าว จำนวน 4 คณะ 21 ราย ประกอบไปด้วย
คณะที่ 1 วงสิงไค นำเสนอท่วงทำนองดนตรีและการฟ้อนรำอีสานโดยสาขาวิชาดนตรีศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สะท้อนเอกลักษณ์สำคัญของ “อุบลราชธานี ศรีศิลป์” ผ่านวัฒนธรรมและประเพณีอันโดดเด่น มีชีวิตชีวา ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเทศไทย อำนวยการแสดงโดยรองศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
คณะที่ 2 ช่างเทียน ชุมชนวัดศรีประดู่ นำเสนอความงดงามของประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี ผ่านการสาธิตการแกะสลักเทียนอันโดดเด่น ด้วยชุดการเรียนรู้ภูมิปัญญาเทียน (Candle Kit) ที่ร่วมพัฒนาโดยช่างเทียนแห่งศูนย์การเรียนเทียนพรรษาศรีประดู่ และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในโครงการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มแก่ทุนทางวัฒนธรรมด้านภูมิปัญญาการทำเทียนของจังหวัดอุบลราชธานี
คณะที่ 3 ช่างศิลป์แห่งเขมราฐ - นาตาล นำเสนอสีสรรค์อีสาน ผ่านเครื่องสักการะและพานบายศรี พร้อมตกแต่งนิทรรศการด้วยภาพวาดพุทธศิลป์พระเจ้าใหญ่องค์ตื๊อ น้อนเหรา ผ้าฝ้ายย้อมคราม และผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายงานวิจัย การเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากและศักยภาพในการแข่งขันสำหรับชุมชนทุนทางวัฒนธรรม อำเภอเขมราฐ และอำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี โดยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
และคณะที่ 4 คุ้มจันทร์หอม นำเสนอผ้าทอเมืองอุบลฯ ในรูปแบบผ้าโบราณ และงานทอออกแบบร่วมสมัย อาทิ งานทอเทคนิคฟั่นไหมจกซ้อนเกสรซ่อนปม ซึ่งคว้ารางวัล World CraftsCouncil Award of Excellence For Handicrafts Asia Pacific Region งานทอเทคนิคมัดหมี่ และงานทอผ้ากาบบัว นอกจากนี้ยังเคยจัดแสดงโชว์ผ้าเมืองอุบลฯประยุกต์ตัดเย็บเป็นชุดวัฒนธรรมอินเดีย ร่วมกับศูนย์ศึกษาอินเดียแห่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
การเข้าร่วมเทศกาลหัตถกรรมนานาชาติในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสอันดีของจังหวัดอุบลราชธานี ในการนำเสนอความงดงาม มรดกแห่งหัดตศิลป์ และศักยภาพของทุนทางวัฒนธรรม รวมถึงซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ของจังหวัดอุบลราชธานี สู่นานาอารยประเทศ พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ดังความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีในการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่ยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่สังคม