มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี : Ubon Ratchathani University
 นักศึกษา    บุคลากร    ศิษย์เก่า   UBU English       |      




งดงามพระแท่นที่ประทับและบริเวณเวที พิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กรอบแนวความคิด ขวัญ


โพสต์โดย : เพลิน วิชัยวงศ์     วันที่ 23 มกราคม 2568 , 05:14:30     (อ่าน 263 ครั้ง)  



        อีกหนึ่งความงดงาม พระแท่นที่ประทับและบริเวณเวที พิธีพระราชทานปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปีการศึกษา 2567 โดย ฝ่ายออกแบบและประดับตกแต่ง ได้นำเสนอกรอบแนวความคิด“ขวัญ”ที่มีความหมายอันเป็นมิ่งมงคล,สิริมงคล, ความดี ผ่านรูปแบบการตกแต่ง องค์ประกอบแห่งงานพุทธหัตถศิลป์ของวัฒนธรรมล้านช้าง การผสานผสมพุทธศิลป์ของช่างหลวงไทย นำลวดลายผ้าทอที่เป็นภูมิปัญญางานช่างท้องถิ่นไทยอุบลมาใช้ตกแต่ง ลวดลายประดับเทียนพรรษาแบบเทียนติดพิมพ์ ตกแต่งลายขดลักษณะของขวัญ  งานศิลป์ร้อยมาลัยข้าวตอกความหมายแห่งการแตกหน่อต่อยอดแห่งพุทธิปัญญาของบัณฑิต โดยมี คณะอาจารย์คณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ ร่วมออกแบบในครั้งนี้

          ดร.ติ๊ก แสนบุญ คณบดีคณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ กล่าวถึงกรอบแนวความคิดในการออกแบบแท่นที่ประทับ และบริเวณเวที ซึ่งประกอบไปด้วย สัญญะ ความหมายแห่งดอกบัว  ดอกไม้บูชาแห่งพระพุทธศาสนา  ชื่อบ้านนามเมือง ที่มาแห่ง จังหวัดอุบลราชธานีเมืองนักปราชญ์ ปราชญ์แห่งธรรม ดินแดนแห่งบูรพาจารย์พระกรรมฐาน ดินแดนที่ครั้งหนึ่งพระบรมสารีริกธาตุ ถูกอันเชิญ มาประดิษฐานในดินแดนอีสาน

          นำแนวความคิดเรื่อง “ขวัญ” ซึ่งเป็นวัฒนธรรมความเชื่อดั้งเดิมที่พบหลักฐานในพื้นที่บริเวณอุษาคเนย์กว่า 3,000 ปี(สุจิตต์ วงษ์เทศ. 2562)ในเชิงความหมายของคำ “ขวัญ” ไม่ใช่เพียงความเชื่อเท่านั้น แต่เป็นคำที่มีความหมายอันเป็น มิ่งมงคล,สิริมงคล, ความดี ในมหาวิทยาลัยไทย เวลาจัดกิจกรรมรับน้องผู้ซึ่งเพิ่งเปลี่ยนผ่านจากนักเรียนมัธยมมาเป็นนิสิตนักศึกษา ก็มักจะมีการจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญ ผูกข้อมือรับน้องใหม่ด้วยเสมอ  นอกจากนี้ขวัญยังมีความสำคัญสำคัญกับเราในฐานะที่เป็นเสมือนจิตวิญญาณของเรา ด้วยสัญญะความหมายอันเป็นมงคลดีงาม จึงไม่แปลกที่เราจะเรียกคนที่เรารักหรือชื่นชมว่า “ขวัญตา”, “ขวัญใจ”, รวมถึงนำคำว่าขวัญไปตั้งชื่อลูกด้วย หรือการมี “คำขวัญ” ซึ่งราชบัณฑิตให้ความหมายไว้ว่าเป็น “ถ้อยคำที่แต่งขึ้นเพื่อเตือนใจหรือเพื่อให้เป็นสิริมงคล”

         เราเรียกสิ่งของที่ให้แก่เจ้าของขวัญเมื่อเสร็จพิธีทำขวัญแล้วว่า “ของขวัญ” โดยถือว่าเป็นสิ่งของที่ให้เพื่อถนอมขวัญกันหรือให้เพื่ออัธยาศัยไมตรี นอกจากนี้ ขวัญอาจอยู่กับสิ่งที่ไม่ใช่คนได้ด้วย เช่น ขวัญข้าว ขวัญควาย เป็นต้น ดังนั้นนอกจากเราจะทำขวัญคนแล้ว ก็ยังทำขวัญให้ธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของเราด้วย เช่นเมื่อขวัญออกจากร่างแล้วไม่ตายเรียกกลับมา ได้จึงมีพิธีเรียกขวัญ สูดขวัญ หรือการสื่อความหมายแห่งการก้าวผ่านสู่ การเปลี่ยนแปลงใหม่ สถานะใหม่ ก้าวสู่ชีวิตแห่งการเรียนรู้ใหม่เสมือนบัณฑิตที่ก้าวผ่านชีวิตการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสู่โลกใหม่ แห่งการนำองค์ความรู้ไปพัฒนาต่อยอดในหน้าที่การงานของชีวิตจริง

          ด้านรูปแบบการตกแต่ง มีการสืบสานพัฒนานำลักษณะซุ้มฮวงผึ้งอันเป็นเอกลักษณ์สำคัญในองค์ประกอบแห่งงานพุทธหัตถศิลป์ของวัฒนธรรมล้านช้างและการผสานผสมลักษณะซุ้มเรือนแก้วเอกลักษณ์สำคัญของพุทธศิลป์ของช่างหลวงไทยมาใช้ผสมผสานกัน โดยนำมาใช้ในส่วนองค์ประกอบสำคัญ ส่วนตกแต่งมีการนำลวดลายผ้าทอที่เป็นภูมิปัญญางานช่างท้องถิ่นไทยอุบลมาใช้ตกแต่ง รวมทั้งนำเทคนิคการทำลวดลายประดับเทียนพรรษาแบบเทียนติดพิมพ์ตกแต่งลายขดลักษณะของขวัญ  มีการผสมผสาน ร้อยเรียงกับพุทธหัตถศิลป์แห่งงานศิลป์ร้อยมาลัยข้าวตอกและสัญญะความหมายแห่งการแตกหน่อต่อยอดแห่งพุทธิปัญญาของบัณฑิต  ที่สื่อสัญญะผ่านข้าวตอกแตก และท้ายสุดมีสร้างสรรค์สัตว์ทวารบาลตกแต่ง ถือเป็นอารักในมณฑลพิธี  อันสืบที่มาจากคติพื้นถิ่นมาออกแบบสร้างสรรค์ใหม่ด้วยลักษณะหมาสรวงเก้าหางผสานผสมตัวมอมไทบ้านอีสาน

                                                          เพลิน วิชัยวงศ์ / ข่าว เทอดภูมิ  ทองอินทร์ /ภาพ




SDG Hashtag : #SDG4