โพสต์โดย : ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร วันที่ 20 มกราคม 2568 , 01:09:23 (อ่าน 308 ครั้ง)
นักศึกษาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ม.อุบลฯ คว้ารางวัลชนะเลิศ
ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ AI พยากรณ์โรคใบร่วงในยางพารา
----------------------------------------
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย ทีม Friendsterสมาชิกในทีม นางสาวกนกวรรณ สีหามาตย์ นางสาวกษิรา ศรีกำปัง นางสาวชญตา จึงพัฒนา นักศึกษาชั้นปีที่ 3สาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์ นางสาวจิดาภา หงษ์กลาง และ นายสิปปกร วรวัฒนานุกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้รับชนะเลิศ อันดับ 1 รับเงินรางวัล 30,000 บาท ผลงาน “RD Snap Application แพลตฟอร์มเพื่อความยั่งยืนในการใช้ AI เพื่อการพยากรณ์โรคใบร่วงในยางพารา”จากสถาบันวิจัยยาง การยางแห่งประเทศไทย โครงการสร้างนวัตกรรุ่นใหม่ด้านยางพารา กิจกรรมการประกวดผลิตภัณฑ์ต้นแบบ IOT Smart Natural Rubber Hackathonทั้งนี้ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) โดยมี ดร.ศันศนีย์ ศรีจันทร์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ดร.สมปอง เวฬุวนาธร อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คณะวิทยาศาสตร์ ดร.ภัทร์ลดา สุธรรมวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาพืชไร่ คณะเกษตรศาสตร์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดารณี หอมดี อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อาจารย์ที่ปรึกษา เมื่อวันเสาร์ที่ 18 มกราคม 2568 ณ โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิซ คอนเวนชั่น โฮเทล จังหวัดนนทบุรี
โดยสถาบันวิจัยยาง (สวย.) เปิดเวทีโชว์นวัตกรรุ่นใหม่ ดัน 5 โครงการวิจัยที่ผ่านการคัดเลือก ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ภายใต้โครงการสร้างนวัตกรรุ่นใหม่ด้านยางพารา ชู เทคโนโลยี IOT หวังยกระดับอุตสาหกรรมยางในอนาคต ในโอกาสนี้ นายโกศล บุญคง รองผู้ว่าการด้านบริหาร ให้เกียรติเป็นประธานและ ดร.กฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กล่าวว่า การจัดกิจกรรมประกวดผลิตภัณฑ์ต้นแบบในโครงการสร้างนวัตกรรุ่นใหม่ด้านยางพาราว่า กยท. พร้อมผลักดันนักวิจัยรุ่นใหม่ ให้มีความรู้ความสามารถในการคิดค้นและสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมด้านยางพารา เวทีนี้จะเป็นการจุดประกายให้นักคิด นักวิจัย ที่กำลังจะก้าวสู่การเป็นนวัตกรรุ่นใหม่ มีโอกาสได้นำเสนอผลงานที่คิดค้นเป็นต้นแบบ (Prototype) ซึ่ง กยท. จะผลักดันให้เกิดการพัฒนาชิ้นงานต้นแบบนั้น จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ปัญหา ความต้องการ และการนำไปใช้ประโยชน์ของเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง รวมถึงผู้ประกอบกิจการยาง เป็นการยกระดับและพัฒนาอาชีพการทำสวนยาง อีกทั้งยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ผ่านการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ส่งเสริมให้เกิดการใช้ยางพาราในประเทศมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อวงการยางพาราไทยแล้ว ยังสามารถขยายผลไปถึงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต ในโอกาสนี้ ได้ฝากถึงนวัตกรรุ่นใหม่ ให้มีความพยายาม มุ่งมั่นในการคิดค้นงานวิจัย นำเทคโนโลยีเข้ามาต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ เพื่อนำเอานวัตกรรมเหล่านี้ไปพัฒนาวงการยางพารา อันจะส่งผลไปสู่ความก้าวหน้า ทั้งด้านการทำเกษตร จนถึงการแปรรูป ตลอดจนอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศต่อไป
กิจกรรมการประกวดผลิตภัณฑ์ต้นแบบในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมต่อเนื่องภายใต้โครงการสร้างนวัตกรรุ่นใหม่ด้านยางพาราที่ได้มีการประกวดข้อเสนอโครงการวิจัยในหัวข้อ “IOT Smart Natural Rubber Hackathon”และมีทีมที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือก จำนวน 5 ทีม ได้เข้ารอบสู่การประกวดผลิตภัณฑ์ต้นแบบผลงานวิจัยในครั้งนี้ โดย กยท. มุ่งหวังต่อยอดโครงการวิจัยให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์หรือผลงานต้นแบบที่สามารถนำไปทดลองและต่อยอดได้จริง สามารถนำเทคโนโลยี IOT (Internet Of Things) เข้ามาเป็นเครื่องมือสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่การเก็บเกี่ยวการผลิตไปจนถึงการแปรรูปยางพารา โดยหวังให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตยางในอนาคต ยกระดับอุตสาหกรรมยางพาราสู่ยุค 4.0
นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคณะและมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่นักศึกษาได้สร้างชื่อเสียงโดยสาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์ เป็นอีกหนึ่งในหลักสูตรที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและเป็นหลักสูตรที่มีความโดดเด่น มีอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถพร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้และยังมีอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ทันสมัยต่อการจัดการเรียนสอนที่ทันสมัย มีการส่งเสริมและสนับสนุนความสามารถของนักศึกษา โดยมีผลงานจากการประกวดทุกระดับ และได้รับรางวัลชนะเลิศต่อเนื่องระดับประเทศหลายรางวัลอีกด้วย
---------------------------------------
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ข่าว/ภาพ สาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ม.อุบลฯ