มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี : Ubon Ratchathani University
 นักศึกษา    บุคลากร    ศิษย์เก่า   UBU English       |      




รองศาสตราจารย์ ดร.ปุริม จารุจำรัสนักวิจัย ม.อุบลฯ ได้รับการสนับสนุน จาก วช.ทุนพัฒนานักวิจัยรุ่นกลาง ประจำปี 2568


โพสต์โดย : เพลิน วิชัยวงศ์     วันที่ 11 มกราคม 2568 , 22:35:59     (อ่าน 237 ครั้ง)  



                 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ปุริม  จารุจำรัส  อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ได้รับการสนับสนุน ทุนพัฒนานักวิจัยรุ่นกลาง จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2568 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2567 ในการดำเนินโครงการวิจัย "เซนเซอร์คายแสงชนิดใหม่สำหรับการตรวจวิเคราะห์สารบ่งชี้มะเร็งแบบพร้อมกันหลายตัวโดยอาศัยเลเยอร์ดับเบิลออกไซด์นาโนคอมโพสิตร่วมกับการใช้แอปตาเมอร์เพื่อเพิ่มสภาพไวและความจำเพาะเจาะจงบนอุปกรณ์ตรวจวัดกระดาษที่พื้นผิวมีคุณสมบัติไม่ชอบนํ้ายิ่งยวด"โดยปีงบประมาณ 2568 วช. ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาเพื่อรับการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม ทุนพัฒนานักวิจัยรุ่นกลาง จำนวน 60 คนทั่วประเทศ

                  ทุนพัฒนานักวิจัยรุ่นกลาง จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นการสนับสนุนทุนเพื่อสร้างนักวิจัยอาชีพให้มีจำนวนมากขึ้น และสามารถผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง ตลอดจนสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่มีผลกระทบสูงทั้งด้านวิชาการและสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดสู่งานวิจัยประยุกต์ เพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ เชิงสาธารณะ หรือเชิงนโยบายอันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนประเทศด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม อีกทั้งสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายการวิจัยระหว่างนักวิจัยและหน่วยงานวิจัยชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ

               รองศาสตราจารย์ ดร.ปุริม จารุจำรัส รองคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและวิเทศสัมพันธ์ อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ กล่าวถึงโครงการวิจัย "เซนเซอร์คายแสงชนิดใหม่สำหรับการตรวจวิเคราะห์สารบ่งชี้มะเร็งแบบพร้อมกันหลายตัวโดยอาศัยเลเยอร์ดับเบิลออกไซด์นาโนคอมโพสิตร่วมกับการใช้แอปตาเมอร์เพื่อเพิ่มสภาพไวและความจำเพาะเจาะจงบนอุปกรณ์ตรวจวัดกระดาษที่พื้นผิวมีคุณสมบัติไม่ชอบนํ้ายิ่งยวด" ว่าเป็นการพัฒนาเซนเซอร์แบบใหม่ในการตรวจวัดสารบ่งชี้มะเร็งชนิดคาร์โบไฮเดรตแอนติเจน 19-9 (CA 19-9) และคาร์โบไฮเดรตแอนติเจน 125 (CA 125) แบบพร้อมกันในตัวอย่างซีรัมมนุษย์บนอุปกรณ์ตรวจวัดฐานกระดาษ โดยเซนเซอร์ที่พัฒนาขึ้นสามารถประเมินและบ่งบอกการเป็นโรคมะเร็งตับอ่อนได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ  โดยเซนเซอร์แบบใหม่ที่พัฒนาขึ้นใช้ง่าย และให้ผลที่รวดเร็วต่อผู้ใช้งาน อาทิเช่น นักเทคนิคการแพทย์ หรือ เจ้าหน้าที่ประจำห้องปฏิบัติการทางคลินิก เมื่อจบโครงการวิจัยสามารถได้ต้นแบบห้องปฏิบัติการที่มีโอกาสพัฒนาต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์  นอกจากนี้ต้นแบบห้องปฏิบัติการที่นำเสนอในงานวิจัยนี้สามารถประยุกต์ใช้ในการตรวจวินิจฉัยสารเป้าหมายทางการแพทย์ตัวอื่นๆ ที่น่าสนใจได้

              นับได้ว่า รองศาสตราจารย์ ดร.ปุริม จารุจำรัส เป็นบุคลากรทางการศึกษา และนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ มีผลงานที่โดดเด่นเป็นที่ยอมรับในระดับชาติ และนานาชาติ ได้รับรางวัลมาอย่างต่อเนื่อง โอกาสนี้สมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ พิจารณามอบรางวัลสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ ประจำปี 2567 ประเภทที่ 5 ACES-CST Early Career Award for Contribution to Green Chemistry 2024 ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ปุริม จารุจำรัส จะได้รับพระราชทานโล่เกียรติยศ จาก ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ในการประชุมวิชาการ Pure and Applied Chemistry Conference 2025 (PACCON 2025) ณ Khao Yai Convention Center Nakhon Ratchasima ซึ่งจะจัดในวันที่ 13 –14 กุมภาพันธ์ 2568 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมแสดงความยินดีกับ รองศาสตราจารย์ ดร.ปุริม จารุจำรัส มา ณ โอกาสนี้  

เพลิน  วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว




SDG Hashtag :

Tag อื่นๆ :