โพสต์โดย : สรายุทธ ดวงตา วันที่ 26 สิงหาคม 2567 , 14:17:43 (อ่าน 179 ครั้ง)
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (มอบ) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดงานเทศกาลทุนทางวัฒนธรรม อำเภอเขมราฐ และอำเภอนาตาล "คน คราม โขง" ส่งเสริมการสร้างเศรษฐกิจฐานราก และความเข้มแข็งของชุมชนได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน โดยมี นายศุภสิทธิ์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานเปิด และ ศาสตราจารย์ ดร. ทวนทอง จุฑาเกตุ รองอธิการบดี ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวรายงาน ซึ่งมีนายอำเภอเขมราฐ นายอำเภอนาตาล หัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ประกอบการสินค้าวัฒนธรรม คณะนักวิจัย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และภาคีเครือข่ายวิจัยในพื้นที่เข้าร่วมงานกว่า 500 คน ณ ถนนคนเดิมเขมราฐ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 23 – 25 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา
ศาสตราจารย์ ดร. ทวนทอง จุฑาเกตุ รองอธิการบดี ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มุ่งส่งเสริมการวิจัย และพัฒนาเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ อำเภอเขมราฐ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เป็นต้นมาจนประสบผลความสำเร็จ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) จึงให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยขยายพื้นที่การดำเนินงานสู่อำเภอนาตาล เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของท้องถิ่นร่วมกัน โดยดำเนินการวิจัยร่วมกับชุมชนทั้งสองอำเภอ จึงก่อให้เกิดผลงานเชิงประจักษ์เกิดขึ้น และได้นำมาแสดงในงานเทศกาลทุนวัฒนธรรมเขมราฐ-นาตาล “คน คราม โขง” ณ บ้านนายอำเภอ (หลังเก่า) บนถนนคนเดินเขมราฐ อาทิ แผนที่ทุนวัฒนธรรมในระบบออนไลน์ Cultural Map และพื้นที่วัฒนธรรมโลกเสมือนจริงเมตาเวิร์ส หรือ Cultural Metaverse Space การพัฒนาและขับเคลื่อนวิสาหกิจวัฒนธรรม ด้วยกิจกรรมการออกแบบสินค้า หัตถกรรม แฟชันผ้าฝ้ายย้อมคราม ตลอดจน ขนมอาลัวลาย เหมราช และ นาคน้อย เห-รา ซึ่งเป็นการนำวัฒนธรรมมาสื่อสารผ่านอาหาร การพัฒนาอุทยานวัฒนธรรมสร้างสรรค์โดยเฉพาะการส่งเสริมพิพิทธภัณฑ์เขมราฐ และ ร่วมพัฒนาลานวัฒนธรรมท้องถิ่นลุ่มน้ำโขง หรือ ลานวัฒน์ณ วัดปากแซง อ. นาตาล สำหรับการนำไปสู่ถนนคนเดินต่อไป และการพัฒนาภาคีเครือข่ายความร่วมมือระดับพื้นที่ ซึ่งต่อยอดจากงานวิจัยที่ผ่านมาและเรียนรู้เสริมสร้างความร่วมมือกับภาคีใหม่ โดยเฉพาะในพื้นที่ทั้ง 4 ตำบลของ อำเภอนาตาล หอการค้าและภาคส่วนราชการต่างๆ
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีพันธกิจ มุ่งสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจและสังคม บริการวิชาการ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการของสังคมและภาคอุตสาหกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจส่งเสริมสร้างการเรียนรู้ในชุมชนร่วมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดความยั่งยืน เพื่อยกระดับให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อีกทั้งยังยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการรายใหม่ พร้อมกับการพัฒนาคนพื้นที่ให้สามารถจัดการตนเอง สร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริงและยั่งยืนสืบไป