มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี : Ubon Ratchathani University
 นักศึกษา    บุคลากร    ศิษย์เก่า   UBU English       |      




นักวิจัย ม.อุบลฯ ดัน รถไฟ เป็นระบบโลจิสติกส์เพื่อพาณิชย์ยั่งยืน ชูจุดเด่นด้าน คาร์บอนเครดิต


โพสต์โดย : สรายุทธ ดวงตา     วันที่ 4 เมษายน 2567 , 13:34:18     (อ่าน 562 ครั้ง)  



     มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.ชาญณรงค์ ภุชงควาริน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ หนึ่งในทีมนักทีมวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมในโครงการวิจัยตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็นแบบเคลื่อนที่ประสิทธิภาพสูงฯ เผยการศึกษาการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็นรักษาคุณภาพผักผลไม้ของมูลนิธิโครงการหลวง ขนส่งด้วยรถไฟจากภาคเหนือลงภาคใต้ ทดสอบขนส่งผลิตผลการเกษตรระยะไกล พบผลลัพธ์ดีเยี่ยม รักษาผลิตผลให้คุณภาพสมบูรณ์ สดใหม่ จำหน่ายและส่งออกประเทศเพื่อนบ้านได้โดยไม่มีตีกลับ เตรียมต่อยอดสร้างระบบโลจิสติกส์ทางรางให้เกษตรกรและเอกชนในประเทศให้หันมาใช้ขนส่งทางรางทดแทนการขนส่งทางถนนและอากาศที่ปล่อยมลพิษมากกว่า โดยผลักดันให้ระบบรางเป็นโลจิสติกส์เชิงพาณิชย์สีเขียว เพิ่มโอกาสด้านคาร์บอนเครดิต ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตอบโจทย์นโยบายชาติและทิศทางด้านสิ่งแวดล้อมของโลก

     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.ชาญณรงค์ ภุชงควารินกล่าว่า รูปแบบการขนส่งโดยปกติของมูลนิธิโครงการหลวง คือใช้การขนส่งทางอากาศ และทางถนนเป็นหลัก ก่อนจะมาทดสอบใช้การขนส่งระยะไกลด้วยรถไฟเป็นครั้งแรกในโครงการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมในโครงการวิจัยตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็นแบบเคลื่อนที่ประสิทธิภาพสูงฯ โดยมีการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งมาเป็นระบบราง (รถไฟ) ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สามารถนำการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงมาใช้เป็นคาร์บอนเครดิต ที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปจำหน่ายเป็นรายได้ที่มาช่วยลดต้นทุนได้อีกทาง ในกรณีที่ขนส่งสินค้าปริมาณมาก ๆ เป็นระยะทางไกล ๆ การขนส่งทางถนนและอากาศมีอัตราการใช้เชื้อเพลิงต่อน้ำหนักสินค้าค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับการขนส่งทางรถไฟ หากมูลนิธิโครงการหลวง หรือ เกษตรกร ผู้ผลิตรายอื่น ๆ สามารถเปลี่ยนมาใช้ขนส่งทางรถไฟ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างมาก นอกจากนี้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงนี้ สามารถนำมาประเมินเป็นมูลค่าและนำไปขายในตลาดคาร์บอนเครดิต โดยทั่วไปการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการลดการใช้เชื้อเพลิงในการขนส่ง ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการลดต้นทุนในการใช้เชื้อเพลิงเพื่อการขนส่งไปด้วยในตัว ส่งผลให้ต้นทุนในภาพรวมลดลงตามไปด้วย

     ทั้งนี้ การผลักดันด้านคาร์บอนเครดิต ในปัจจุบันประเทศไทยยังเป็นแบบภาคสมัครใจ แต่ในอนาคตมีแนวโน้มที่อาจจะมีการผลักดันจริงจังมากขึ้น และอาจมีการบังคับเรื่องภาษีคาร์บอน ทำให้การซื้อขายคาร์บอนเครดิตมีราคาที่สูงขึ้น องค์กรต่าง ๆ ตื่นตัวมากขึ้น โดยองค์กรที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงสามารถนำส่วนต่างไปประเมินราคา แล้วขายเพื่อลดต้นทุนสินค้า ขณะที่องค์กรที่ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณสูง ๆ จะต้องจ่ายต้นทุนในส่วนนี้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ประเทศไทยมีเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2065

ขอบคุณที่มาข้อมูลข่าว www.thestorythailand.com