โพสต์โดย : เพลิน วิชัยวงศ์ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 , 09:08:29 (อ่าน 402 ครั้ง)
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย ศาสตราจารย์ ดร.ทวนทอง จุฑาเกตุ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม เป็นตัวแทน กลุ่มวิจัยประมงยั่งยืน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมต้อนรับ พลเอก เดวิด เฮอร์ลีย์ (His Excellency the Honourable General David Hurley AC DSC)ผู้สำเร็จราชการแห่งเครือรัฐออสเตรเลีย และภริยา (Her Excellency Mrs. Linda Hurley) พร้อมรายงานความก้าวหน้าโครงการเสริมสร้างความสามารถในการรับมือความเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ กรณีศึกษาพื้นที่ลุ่มน้ำอิง ที่ได้รับการสนับสนุนจากสถานทูตออสเตรเลียและ องค์กรออกซ์แฟม โดยความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ณ บริเวณป่าชุ่มน้ำบ้านป่าข่าหรือป่าส้มแสง อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นำหัวหน้าส่วนราชการ และชาวบ้านป่าข่า ร่วมต้อนรับ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567ที่ผ่านมา
สำหรับโครงการเสริมสร้างความสามารถในการรับมือความเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ กรณีศึกษาพื้นที่ลุ่มน้ำอิง เป็นความร่วมมือของสถานทูตออสเตรเลีย องค์กรออกซ์แฟม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีวัตถุประสงค์เพื่อทำงานวิจัยในด้านสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ในท้องถิ่นลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อให้เกิดการปกป้องและอนุรักษ์พื้นที่ป่าและน้ำ โดยร่วมกับชุมชนให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม ในการทำงาน ทำให้เกิดความรักในท้องถิ่นของตนเอง ในพื้นที่แม่น้ำอิง ตั้งแต่ตอนต้นในพื้นที่ จ.พะเยา จนถึงตอนปลาย ที่ จ.เชียงราย ซึ่งโครงการดังกล่าว ได้มีการให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาโทเต็มหลักสูตรแก่นักศึกษาในพื้นที่ลุ่มน้ำอิง เพื่อให้นักศึกษาที่เรียนจบมาแล้วได้ทำงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และเป็นแกนนำให้ชุมชนได้ร่วมกันรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ เพื่อที่จะได้อนุรักษ์ธรรมชาติเอาไว้ ไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลง
นับเป็นอีกหนึ่งโครงการวิจัยที่สร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกัน ระหว่างองค์กรต่างประเทศ สถาบันอุดมศึกษา ภาคประชาชนและชุมชน ตอบโจทย์ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGs)ในด้าน มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้นและปกป้อง ฟื้นฟู สนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟื้นสภาพกลับมาใหม่ และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
เพลิน วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว