โพสต์โดย : เพลิน วิชัยวงศ์ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 , 11:12:50 (อ่าน 610 ครั้ง)
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดี กราบบังคมทูลประกาศราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสที่สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษจอมจิน จันทรสกุล นายกสภามหาวิทยาลัย ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประจำปีการศึกษา 2565 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา
คำประกาศราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติฯ
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์
ในการเสด็จพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๕
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลง-กรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระปรีชาสามารถในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการศึกษา ทรงเป็นนักการศึกษา พระองค์สนพระทัยศาสตร์ต่าง ๆ โปรดการศึกษาค้นคว้าที่กว้างขวางรอบด้าน ความใฝ่พระทัยในการศึกษามีมาเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ ทรงมุ่งมั่นอุตสาหะเพื่อศึกษาสิ่งที่สนพระทัยอย่างจริงจัง ทรงสำเร็จการศึกษาอักษรศาสตร์ระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ทรงศึกษาต่อระดับปริญญาเอก สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์ และยังทรงเข้ารับการฝึกอบรมและศึกษาเกี่ยวกับวิทยาการแขนงอื่นที่ทรงเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อการทรงงานอย่างต่อเนื่อง
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศ ทรงมีพระราชดำรัสว่า “ครูมีบทบาทสำคัญ ต้องเตรียมพร้อมทั้งความรู้ ทักษะและประสบการณ์การเรียนรู้ เพื่อช่วยให้นักเรียนประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ครูจำเป็นต้องพัฒนาตนเองแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ ต้องตระหนักในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัวที่เกิดขึ้น ไม่เช่นนั้น ครูก็ไม่สามารถติดตามการพัฒนาของนักเรียนได้” จึงทรงทุ่มเททั้งเวลาและกำลังเพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพการศึกษา ทรงเป็นแรงบันดาลใจและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ครูในวงการศึกษามาโดยตลอด ทรงเป็นทูลกระหม่อมอาจารย์ของนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ทรงได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์ส่วนการศึกษา นอกจากนี้พระองค์ยังได้เป็นพระอาจารย์สอนในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ได้พระราชทานโครงการตามพระราชดำริ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เด็กและชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยมีครูเป็นแกนนำในการถ่ายทอดความรู้ให้ประชาชนในชุมชนเข้าร่วมกิจกรรมของโรงเรียน ทำให้นักเรียนได้รับการพัฒนาไปพร้อมกับการถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ในพุทธศักราช ๒๕๕๘ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษา ได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตจัดตั้งรางวัลระดับนานาชาติ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระปรีชาด้านการศึกษา ที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อส่งเสริมการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนในระดับต่าง ๆ มาโดยตลอด ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาต ตั้งนามรางวัลว่า “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” และมีพระราชานุญาตให้จัดตั้ง “มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” เพื่อเป็นองค์กรหลักในการวางแผนการดำเนินงานและพิจารณารางวัล เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้มีผลงานดีเด่นและสร้างคุณประโยชน์ต่อการศึกษาในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวม ๑๑ ประเทศ ประเทศละ ๑ คน รวม ๑๑ รางวัล โดยมีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นประธานกิตติมศักดิ์ ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๘ ณ กรุงเทพมหานคร และทรงมีพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า “เป็นที่ยอมรับทั่วกันว่า การศึกษาเป็นรากฐานและเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาคนและพัฒนาคุณภาพของประเทศให้เจริญก้าวหน้ามั่นคง ครูจึงมีบทบาทและเป็นปัจจัยที่สำคัญ ในการจัดการศึกษาของชาติต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้ ความสามารถทุ่มเทและเสียสละพากเพียร อบรมสั่งสอนดูแลลูกศิษย์ด้วยความรักและเมตตาอาทร ด้วยจิตวิญญาณแห่งความเป็นครู มีคุณธรรม จริยธรรมและประพฤติตนตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ”
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเริ่มโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (กพด.) ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๒๓ และได้ทรงงานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน พระองค์ทรงห่วงใยคุณภาพของเด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ทรงมีพระราชดำรัสไว้ เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๓๑ ความตอนหนึ่งว่า “...จึงอยากจะตั้งกองทุนแล้วก็สนับสนุนให้นักเรียนเหล่านั้น เลือกเอาจากโรงเรียนในเขตที่จะหาโอกาสในการศึกษาต่อได้ยาก ให้ได้รับการศึกษาต่อพอเป็นตัวอย่าง อาจจะมีกฎข้อบังคับบางประการให้ต้องกลับมาเป็นผู้ช่วยทำความเจริญให้หมู่บ้าน การที่นักเรียนได้เรียนต่อนั้นก็จะเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนเอง คือเมื่อมีความรู้มากขึ้น ควรจะมีโอกาสที่จะได้เลือกงานมีอาชีพเลี้ยงตัวที่จะทำประโยชน์ให้แก่ตนเองและทำประโยชน์ให้แก่คนอื่นได้มากขึ้น...” ทั้งนี้ พระองค์ ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนและนักศึกษาทุกระดับที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงอุดมศึกษา ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๒๕ จนถึงปัจจุบัน และพระองค์ได้พระราชทานทุนการศึกษาแก่บุตรของครูผู้ปฏิบัติงาน โดยมีพระราชประสงค์เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระครูผู้ปฏิบัติงาน อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างขวัญกำลังใจ รวมทั้งได้พระราชทานทุนการศึกษาแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นจำนวนมากกว่า ๒๐๐ ทุน
ในพุทธศักราช ๒๕๖๓ พระองค์ทรงทำโครงการถุงยังชีพพระราชทานเพื่อการศึกษา และพระราชทานแก่นักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนและโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทรงมีพระราชดำริที่จะให้สร้างความสามารถของบุคลากรอื่น ๆ ในพื้นที่ อาทิ ทหารพันธุ์ดี เพื่อช่วยพัฒนาโรงเรียนทางกายภาพ ให้สามารถสอนหนังสือได้ในระดับหนึ่ง และมีพระราชดำริที่ขยายงานไปยังโรงเรียนในโครงการพระราชดำริและที่ได้รับพระราชานุเคราะห์ ต่อมาเมื่อวันที่ ๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๓ พระองค์ทรงมีพระราโชบายให้สำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด สภากาชาดไทย ดำเนินโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการเรียนรู้เด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร โดยให้ความสำคัญในเบื้องต้น แก่นักเรียนที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ คิดเลขไม่ได้ ทั้งนี้ พระองค์ได้พระราชทานรับสั่งให้นายกเหล่ากาชาดจังหวัดช่วยเหลือทักษะด้านการอ่านและการเขียนภาษาไทยแก่นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาในระหว่างปิดภาคเรียน อันเนื่องจากผลกระทบโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด ๑๙) โดยพระราชทานคำแนะนำให้ผลิตและสร้างคู่มือสำหรับผู้ที่รู้ภาษาไทยแก่โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งเหล่ากาชาดจังหวัดอุบลราชธานีและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดอุบลราชธานีได้จัดทำโครงการส่งเสริมและพัฒนาการพูด อ่าน เขียนภาษาไทย เพื่อสนองพระราชดำริฯ เพื่อแก้ปัญหานักเรียนที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ โดยร่วมมือกับหน่วยงานทางการศึกษา ได้แก่ โรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต ๑-๕ จำนวน ๓๖ แห่ง โรงเรียนสังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๒๒ จำนวน ๑๐ แห่ง โรงเรียนสังกัดเทศบาลนครอุบลราชธานี จำนวน ๔ แห่ง โรงเรียนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน จำนวน ๑๐ แห่ง และขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว โดยใช้กลไกชุดพัฒนาการอ่าน การเขียน โดยจัดทำเป็นคู่มือหลักสูตรหรือชุดฝึกการแก้ปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ สำหรับนักเรียนกลุ่มเป้าหมายจำนวน ๙ เล่ม และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้สนองพระราชดำริในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการเรียนรู้เด็กและเยาวชน โดยได้ดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่นโดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยงแก่โรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่อยู่ห่างไกลในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดอำนาจเจริญ เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ STEM Education ทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ การพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาไทยและภาษาอังกฤษ การพัฒนาศักยภาพครู การพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรม และยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในท้องถิ่นให้เกิดความเข้มแข็ง
นอกจากนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๓๕ อาทิ ให้อนุรักษ์พืชพันธุ์ของประเทศและดำเนินการเป็นธนาคารพืชพันธุ์ ให้จัดทำศูนย์ข้อมูลพันธุกรรมพืช โดยมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถแสดงลักษณะของพืชออกมาเป็นภาพสีได้ เพื่อสะดวกในการอ้างอิงค้นคว้า อีกทั้งได้พระราชทานแนวทางการสอนและอบรมให้เยาวชนมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากร ปลูกฝังให้เห็นความงดงาม ความน่าสนใจ และเกิดความปีติที่จะศึกษาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และได้พระราชทานพระราชดำริและแนวปฏิบัติในการดำเนินงานการใช้สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนเป็นสื่อ เพื่อให้นักเรียน เยาวชน และประชาชนทั่วไปเข้าใจ เห็นความสำคัญของทรัพยากร เกิดความรัก หวงแหน และรู้จักนำไปใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้เข้าร่วมเป็นหน่วยงานสนองพระราชดำริดังกล่าว และได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้จัดตั้งศูนย์ประสานงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๘ มีบทบาทหน้าที่ในการประสานงานและติดตามผลการดำเนินงานสนองพระราชดำริฯ ส่งเสริมสนับสนุนการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรและสร้างความรู้ความเข้าใจในการดำเนินงาน โดยจัดให้มีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนแก่ครูโรงเรียนสมาชิกงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดศรีสะเกษ ส่งผลให้สถานศึกษามีความรู้ความเข้าใจการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน สามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๖๐ จนถึงปัจจุบัน มีสถานศึกษาที่เป็นสมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของศูนย์ประสานงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ผ่านการประเมินและเข้ารับพระราชทานป้ายสนองพระราชดำริงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนทั้งในระดับป้ายสนองพระราชดำริ ระดับเกียรติบัตรขั้นที่ ๑ และระดับเกียรติบัตรขั้นที่ ๒
ด้วยพระปรีชาสามารถ พระวิริยะอุตสาหะ และด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวร-ราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารีพระราชทานแก่วงการศึกษาศาสตร์ อันเป็นคุณูปการในการพัฒนาประเทศ พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และพัฒนาองค์ความรู้ สภามหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ ๑๐/๒๕๖๖ เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ จึงขอพระราชทานพระราชานุญาต ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์แด่พระองค์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณให้ปรากฏ และเป็นสิริมงคลอันสูงสุดแก่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและวงการศึกษาศาสตร์สืบไป
SDG Hashtag : #SDG4