โพสต์โดย : ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร วันที่ 7 สิงหาคม 2566 , 23:41:26 (อ่าน 686 ครั้ง)
คณะวิทยาศาสตร์ ม.อุบลฯ
พัฒนาความรู้และทักษะชีวิตสำหรับวัยเรียน รร.เดชอุดม
-----------------------------------------------
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย คณะวิทยาศาสตร์ ลงพื้นที่บริการวิชาการโรงเรียนเดชอุดม จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมที่ 8 การเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ภายใต้โครงการ “การพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 สำหรับคนทุกช่วงชีวิต” เมื่อวันจันทร์ที่ 7 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ โรงเรียนเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี คณะครู บุคลากร และนักเรียน ต้อนรับวิทยากรนำทีมโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชัชวิน นามมั่น หัวหน้าสำนักงานเลขานุการ ผู้รับผิดชอบกิจกรรมที่ 8 ดร.สมปอง เวฬุวนาธร ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและวิชาชีพ พร้อมนักศึกษาช่วยงานสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสาร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ลงพื้นที่จัดกิจกรรมให้ความรู้เพื่อตอบโจทย์ของโลกที่รองรับการเชื่อมต่อของทุกสิ่ง (Internet of Things : IoT) รวมถึงอุปกรณ์อื่น ๆ ที่สามารถเชื่อต่อได้ และเพื่อบูรณาการความรู้ด้านเทคโนโลยีและทักษะการจัดการสารสนเทศเพื่อพัฒนาความสามารในการวิเคราะห์ การคิดอย่างสร้างสรรค์ การแก้ปัญหา และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับเด็กวัยเรียน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชัชวิน นามมั่น หัวหน้าสำนักงานเลขานุการ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และผู้รับผิดชอบกิจกรรมที่ 8 กล่าวว่าสำหรับโครงการ “การพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 สำหรับคนทุกช่วงชีวิต” ประกอบด้วยกิจกรรมย่อย 12 กิจกรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 สำหรับคนทุกช่วงวัน 2,250 คน ได้แก่ ปฐมวัย วัยเรียน/วัยรุ่น วัยแรงงาน วัยผู้สูงอายุ และเพื่อพัฒนาครูในด้านการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างยั่งยืน และเพื่อปลูกฝังทักษะทางด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศในอนาคตต่อไป โดยการลงพื้นที่จัดกิจกรรมที่ 8 การเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ณ โรงเรียนเดชอุดมครั้งนี้มีจุดเด่นของกิจกรรม สืบเนื่องจากยุคปัจจุบันเป็นยุคการติดต่อสื่อสารในเจนเนอเรชั่นที่ 5 หรือที่รู้จักกันในนาม “ยุค 5G” ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ของโลกที่รองรับการเชื่อมต่อของทุกสิ่ง (Internet of Things : IoT) เช่น Smart Home Smart Infrastructure Smart City Smart Car เป็นต้น รวมถึงอุปกรณ์อื่น ๆ ที่สามารถเชื่อต่อได้ ก็จะถูกเชื่อมต่อด้วยระบบอินเทอร์เน็ต และมีการรับส่งข้อมูลแบบเรียบไทม์ ดังนั้น ทั้งสถาบันการศึกษาและผู้เรียนจึงต้องมีความพร้อม ให้เท่าทันเทคโนโลยีและการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology : IT) ด้านโทรคมนาคม ด้านบริการระบบเครือข่าย (Network) และการให้บริการ Service Provider หรือ Internet Service Providerในการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จึงจำเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 และการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับเด็กวัยเรียน เพื่อบูรณาการความรู้ด้านเทคโนโลยีและทักษะการจัดการสารสนเทศเพื่อพัฒนาความสามารในการวิเคราะห์ การคิดอย่างสร้างสรรค์ การแก้ปัญหา และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
นับเป็นอีกหนึ่งพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ด้านการจัดการเรียนการสอนและด้านการบริการวิชาการเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี ผ่านการบริการวิชาการที่ตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่สังคม และสร้างโอกาสใหม่ในอนาคตให้แก่เยาวชนเพื่อพัฒนาทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และดิจิทัล รวมทั้งบ่มเพาะการเป็นนักคิด และนักนวัตกรรมทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวยังร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโอกาสครบรอบ 33 ปี แห่งการสถาปนาและก่อตั้งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
---------------------------------
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว