โพสต์โดย : ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร วันที่ 5 ตุลาคม 2565 , 16:40:32 (อ่าน 963 ครั้ง)
ม.อุบลฯ ต้อนรับคณะศึกษาดูงานผู้บริหารและผู้ประกอบการ สปป.ลาว และไทย
ยกระดับพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่
------------------------------------------
เมื่อวันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม 2565 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ต้อนรับ คณะศึกษาดูงานผู้บริหารและผู้ประกอบการจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และไทย นำทีมโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและบริการวิชาการ พร้อมคณะผู้บริหาร และบุคลากรอุทยานวิทยาศาสตร์และโรงงานต้นแบบ ร่วมต้อนรับ ท่าน Xaysomphet Norasingh (ท่านไซสมเพช นอระสิง) Director General, Department of Trade Promotionผู้บริหารและผู้ประกอบการจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่เดินทางมาร่วมกิจกรรมศึกษาดูงานและการจัดคู่ธุรกิจ ณ โรงงานต้นแบบด้านการผลิตอาหาร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีความยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่มีโอกาสต้อนรับคณะผู้บริหารและผู้ประกอบการจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่เดินทางมาร่วมกิจกรรมศึกษาดูงานและการจัดคู่ธุรกิจวันนี้ สืบเนื่องจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการเรียนการสอน และการวิจัย ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ รวมถึงการผลักดันการนำองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยออกสู่สังคมและชุมชน ทั้งระดับจังหวัด และระดับประเทศ โดยมีอุทยานวิทยาศาสตร์และโรงงานต้นแบบ เป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนโดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงการถ่ายทอดองค์ความรู้ของนักวิจัย คณาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัย เพื่อยกระดับผู้ประกอบการให้เป็นผู้ประกอบการนวัตกรรม ซึ่งในส่วนของโรงงานต้นแบบนั้น ประกอบด้วยโรงงาน 2 โรงงาน ได้แก่ โรงงานต้นแบบด้านการผลิตอาหารประเภทเนื้อสัตว์ และโรงงานต้นแบบด้านการผลิตอาหารประเภทผักและผลไม้ โดยสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นสถานที่ให้บริการสำหรับเกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่อีสานและกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อใช้ในการผลิต วิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ตลอดจนบรรจุภัณฑ์ โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรและยกระดับความสามารถในการผลิตสินค้าของเกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่ ทั้งในแง่ของคุณภาพ มาตรฐาน ปริมาณการผลิต และการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ เพื่อช่วยลดต้นทุนด้านการจัดหาเครื่องจักร การจัดการเครื่องจักร การซ่อมบำรุง การสร้างและรักษามาตรฐานการผลิต อันจะเป็นการสร้างงานให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยต่อไป
---------------------------------------------
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว