โพสต์โดย : ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร วันที่ 5 สิงหาคม 2565 , 13:28:50 (อ่าน 1,683 ครั้ง)
ม.อุบลฯ ต้อนรับคณะอนุกรรมการประเมินและคัดเลือกมหาวิทยาลัย - โรงเรียน
เข้าร่วมโครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการ วมว. ระยะที่ 3
-------------------------------------------
เมื่อวันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม 2565 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย คณะวิทยาศาสตร์ และโรงเรียนลือคำหาญวารินชำราบ ต้อนรับคณะอนุกรรมการประเมินและคัดเลือกมหาวิทยาลัย - โรงเรียน เข้าร่วมโครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการ วมว. ระยะที่ 3 นำทีมโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ศาสตราจารย์ ดร.ศิริพร จึงสุทธิวงษ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ดร.องอาจ จูสีมา ผู้อำนวยการโรงเรียนลือคำหาญวารินชำราบผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุระ วุฒิพรหม ผู้อำนวยการโครงการ วมว. - มอบ.พร้อมคณะผู้บริหาร บุคลากร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและโรงเรียนลือคำหาญวารินชำราบ ต้อนรับ รองศาสตราจารย์ ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และคณะอนุกรรมการประเมินและคัดเลือกมหาวิทยาลัย - โรงเรียน เข้าร่วมโครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (โครงการ วมว.) ระยะที่ ๓ ในโอกาสลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการ วมว. คู่ศูนย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี - โรงเรียนลือคำหาญวารินชำราบ ในการตรวจเยี่ยมโครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์โรงเรียนลือคำหาญวารินชำราบ พร้อมทั้งเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ หอพักนักเรียน ชมผลงานวิชาการและกิจกรรมของนักเรียนในโครงการฯ จากนั้นเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสรุปการดำเนินงานโครงการ วมว. ร่วมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้บริหารโรงเรียนและร่วมลงนามบันทึกแสดงเจตนารมณ์ ณ ชั้น 3 ห้องวารินชำราบ อาคารสำนักงานอธิการบดี 2 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ศาสตราจารย์ ดร.ศิริพร จึงสุทธิวงษ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ และประธานคณะกรรมการบริหารโครงการ วมว. ศูนย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า สำหรับโครงการ วมว. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และโรงเรียนลือคำหาญวารินชำราบ ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมมือให้การสนับสนุน จัดหลักสูตรและการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อสนับสนุนการขยายฐานกำลังคนเพื่อเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย นักเทคโนโลยีและนวัตกรที่มีศักยภาพ ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ตลอดระยะเวลาของการดำเนินโครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนลือคำหาญวารินชำราบ โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (โครงการ วมว.) ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2556-2565) รับนักเรียน รุ่นที่ 1 ในปีการศึกษา 2558 นั้น ได้สร้างนักเรียนที่มีคุณภาพ มีความเป็นเลิศทางด้านวิชาการและวิจัย ซึ่งถือเป็นกำลังหลักของประเทศในการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันจะเห็นได้จากผลงานของนักเรียนในโครงการที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่อยู่ในระดับดีเยี่ยม และมีความสามารถทางด้านวิชาการที่โดดเด่นทั้งระดับชาติและนานาชาติ มีผลคะแนนเฉลี่ยของการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ที่สูงกว่าผลเฉลี่ยของระดับประเทศในทุกรายวิชา และหลักสูตรส่งเสริมศักยภาพของโรงเรียนครู อาจารย์ได้รับความรู้ทางด้านวิชาการ นักเรียนได้ใช้ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ขั้นสูง ได้ใช้อุปกรณ์การทดลองที่เป็นครุภัณฑ์จากงบประมาณโครงการฯ ได้ใช้ห้อง Smart Classroom ห้อง STEAM LAB. และเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่ได้รับการจัดสรรจากโครงการ วมว.-มอบ. จากประสบการณ์ที่นักเรียนได้รับจากการเข้าร่วมแข่งขันทักษะและความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ทั้งในระดับภูมิภาค ระดับชาติและระดับนานาชาติ ยังนำไปสู่การพัฒนาทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์และวิจัยของนักเรียน และสามารถเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีและศึกษาต่อในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากกว่าร้อยละ 80(SCiUS UBU ที่ที่ความสำเร็จสร้างได้)และโครงการ วมว.-มอบ. ในระยะที่ 3 (พ.ศ. 2564 –2583) ที่จะได้มีการลงนามความร่วมมือกันต่อไปนั้น ได้วางเป้าหมายในการรับนักเรียนเข้าศึกษาในโครงการ จำนวน 60 คน/ปี จำนวน 2 ห้องเรียน โดยมุ่งเน้นผลิตนักเรียนที่มีความเป็นนักวิจัยวิทยาศาสตร์และนวัตกร พร้อมด้วยกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนมีกระบวนการบ่มเพาะนักเรียนให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ทั้งความรู้และทักษะเฉพาะทางที่จำเป็นสาหรับการเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย นวัตกร (Hard skill)และทักษะที่ใช้ในการปฏิสัมพันธ์กับคน เป็นกลุ่มทักษะที่เกี่ยวข้องกับการเข้าสังคมและอารมณ์เป็นหลัก (Soft skill)ครอบคลุมใน 4 ด้าน ได้แก่ กิจกรรมพัฒนาสมอง กิจกรรมพัฒนาจิตใจ กิจกรรมพัฒนาทักษะปฏิบัติ และกิจกรรมพัฒนาสุขภาพ โดยนักเรียนทุกคนที่อยู่ภายใต้โครงการต้องผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมทั้ง 4 ด้าน สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่หลักสูตรอื่น ๆ และยกระดับคุณภาพของโรงเรียน ทำให้นักเรียนในหลักสูตรอื่น มีโอกาสเข้าใช้สื่อและทรัพยากรต่าง ๆ ร่วมกับนักเรียนในโครงการของโรงเรียนอันจะก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมทางการศึกษาที่เข้มแข็งทางวิชาการและประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมต่อไป
--------------------------------------
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว