โพสต์โดย : เพลิน วิชัยวงศ์ วันที่ 15 มิถุนายน 2565 , 11:12:51 (อ่าน 769 ครั้ง)
อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์กมลพร นครชัยกุล รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และคณะ ร่วมกับ University of Foreign Languages, Hue Universityจัดกิจกรรม Startup Bootcamp ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมของโครงการ YSC ในการแข่งขันแนวคิดทางธุรกิจระดับนานาชาติ (International Young Startup Contest 2022)โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุน พัฒนานักศึกษาสู่การเป็นผู้ประกอบการ startup เพื่อให้นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการ Startup การคิดเชิงออกแบบ การสร้างธุรกิจ Startup และ Pitching รับเกียรติจาก Dr.Pham Thi Hong Nhung อธิการบดี University of Foreign Languages, Hue University เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม ถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ณ University of Foreign Languages, Hue University
ผู้ช่วยศาสตราจารย์กมลพร นครชัยกุล รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า กิจกรรมแข่งขันแนวคิดทางธุรกิจระดับนานาชาติ (International Young Startup Contest 2022) เป็นโครงการร่วมพัฒนาหน่วยบ่มเพาะธุรกิจ (Business Incubator) ภายใต้กรอบความร่วมมือการดำเนินงานหน่วยบ่มเพาะธุรกิจในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง(สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ในการเสริมสร้างประสบการณ์การสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการในระยะเริ่มต้น ผ่านกลไกเตรียมความพร้อมเข้าสู่การบ่มเพาะธุรกิจในระยะสั้น โดยกิจกรรมสำคัญในงาน เป็นกิจกรรมการพัฒนานักศึกษาและบ่มเพาะผู้ประกอบการใหม่ และมีการจัดแข่งขันแนวคิดทางธุรกิจระดับนานาชาติ ทั้งนี้เพื่อเป็นการฝึกอบรมและถ่ายทอดกระบวนการพัฒนานักศึกษาเป็นผู้ประกอบการให้แก่สถาบันเครือข่าย รวมทั้งเพื่อสร้างเวทีให้บุคลากรของสถาบันเครือข่ายได้ทดลองปฏิบัติการจริงผ่านกลไกการพัฒนานักศึกษาเพื่อการแข่งขันผู้ประกอบการ ซึ่งกำหนดแข่งขันในรอบสุดท้าย (final round) ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 ณ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งจะมีตัวแทนนักศึกษาจากประเทศไทย ลาว และกัมพูชา เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้
นอกจากนี้ กิจกรรมยังช่วยพัฒนานักศึกษาให้สามารถเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในอนาคตแล้ว กิจกรรมนี้ยังสามารถช่วยเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรม และยังช่วยหนุนเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงทางธุรกิจ เป็นการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ และสร้างการเรียนรู้ตลาดเชิงลึกของประเทศอาเซียนภาคพื้นทวีปอีกด้วย โดยกิจกรรมดังกล่าว จะมีการส่งเสริมผลงานวิจัยและนวัตกรรมของไทยเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ของ Startup และนำสู่ตลาดของกลุ่มประเทศต่างๆ ซึ่งจะเป็นการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไปด้วย