โพสต์โดย : เทอดภูมิ ทองอินทร์ วันที่ 22 มีนาคม 2565 , 17:13:47 (อ่าน 1,031 ครั้ง)
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยคณะรัฐศาสตร์และกลุ่มศึกษาอินเดีย ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย และเครือข่ายอินเดียศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยมหิดล จัดสัมมนาทางวิชาการเครือข่ายอินเดียศึกษาแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “ภูมิปัญญาอินเดียแห่งลุ่มน้ำโขง” เพื่อเฉลิมฉลอง 75 ปีความสัมพันธ์ไทย-อินเดีย และสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านอาณาบริเวณศึกษาและอินเดียศึกษาให้กับสถาบันการศึกษาภายในประเทศ รวมไปถึงการให้บริการวิชาการแก่ประชาชนผู้สนใจได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ สุจิตรา ดูไร เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย กล่าวเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “75 ปี มิตร-ไมตรี อินเดีย-ไทย” และคุณอัศวิน เอ็ม คอทนิส อัครราชทูตที่ปรึกษาให้เกียรติจุดประทีป โอกาสนี้ ผศ.ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ และดร.ฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวรายงาน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมแลโขง อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี และผ่านระบบออนไลน์ การสัมมนาดังกล่าวประกอบด้วยเวทีเสวนาจำนวน 5 เวที และการนำเสนอ 20 บทความจากนักวิชาการด้านอินเดียศึกษาทั่วประเทศ โดยมีผู้เข้าร่วมงานทั้งในที่ตั้งและระบบออนไลน์จำนวน 300 คน
ผศ.ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่าการสัมมนาในครั้งนี้เป็นความร่วมมือของเครือข่ายอินเดียศึกษาจากทั่วประเทศซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกที่จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดที่ได้รับแสงแรกของประเทศไทย และนับว่าเป็นหมุดหมายที่สำคัญ ในการร่วมเฉลิมฉลอง 75 ปีความสัมพันธ์ไทย-อินเดีย นอกจากนี้ยังถือโอกาสที่มหาวิทยาลัยเครือข่ายจะได้ร่วมแสดงความชื่นชมยินดีและมุทิตาจิตแด่ ผศ.ดร.จิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา ราชบัณฑิต ผู้ได้รับรางวัล มอบรางวัลปัทมศรี ประจำปี 2565 จากรัฐบาลอินเดียอีกด้วย
ในช่วงพิธีปิด ได้มีการมอบธงเจ้าภาพการประชุมเครือข่ายอินเดียศึกษาแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 2 ปี 2566 ณ จังหวัดนครปฐม โดยศูนย์ภารตะศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศูนย์สันสกฤตศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากรและการมอบรางวัลผู้นำเสนอยอดเยี่ยม (Best Presentation) จำนวน 5 รางวัล จาก 5 เวทีเสวนา ประกอบไปด้วย
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีความมุ่งมั่นในการสร้างเครือข่ายทางวิชาการด้านอาณาบริเวณศึกษา ที่เชื่อมโยงอินเดียกับภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและสร้างองค์ความรู้อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและนวัตกรรมของประชาชนต่อไป