มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี : Ubon Ratchathani University
 นักศึกษา    บุคลากร    ศิษย์เก่า   UBU English       |      




สกสว. สนับสนุนงบ ม.อุบลฯ วิจัยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนลุ่มน้ำโขง เชื่อมโยงสาธารณสุข กัมพูชา และ สปป.ลาว


โพสต์โดย : ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร     วันที่ 29 ตุลาคม 2564 , 03:36:05     (อ่าน 1,261 ครั้ง)  



สกสว. สนับสนุนงบ ม.อุบลฯ วิจัยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนลุ่มน้ำโขง

เชื่อมโยงสาธารณสุข กัมพูชา และ สปป.ลาว

-----------------------------------

            เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม 2564 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดการประชุมนำเสนอผลการดำเนินโครงการวิจัยย่อยเรื่อง “การศึกษาสถานการณ์และบริบทที่เกี่ยวข้องกับการบริการสุขภาพข้ามแดนของจังหวัดอุบลราชธานี” ชุดย่อยปีที่ 1 (1 ตุลาคม 2563 – 30 กันยายน 2564) ภายใต้ชุดโครงการวิจัย “การวิจัยเพื่อเสริมสร้างศักยภาพจังหวัดอุบลราชธานีเป็นเมืองต้นแบบด้านการบริการสุขภาพข้ามแดนในเขตอีสานใต้” สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ประจำปีงบประมาณ 2564 สนับสนุนงบประมาณโดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์  ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นประธาน รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต  ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและบริการวิชาการ กล่าวต้อนรับและ รองศาสตราจารย์สมหมาย  ชินนาค ผู้อำนวยการชุดโครงการวิจัย กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์การดำเนินโครงการวิจัยในการประชุมครั้งนี้ เพื่อศึกษาสถานการณ์และบริบทที่เกี่ยวข้องกับบริการด้านสุขภาพของพื้นที่ชายแดนประเทศกัมพูชาและ สปป.ลาว ในแง่ของยุทธศาสตร์และนโยบายด้านการสาธารณสุข จำนวนของสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน และบุคลากรด้านสาธารณสุข เพื่อศึกษาปัจจัยและรูปแบบที่ก่อให้เกิดการข้ามแดนมาใช้บริการด้านสุขภาพในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียงของชาวกัมพูชาและชาวลาว ซึ่งการประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก Dr. Bounmy  Phonesavanh อธิการบดีมหาวิทยาลัยจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รองศาสตราจารย์ธรรมรักษ์  ละอองนวล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ผู้ช่วยศาสตราจารย์กนก  โตสุรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ นายแพทย์สุวิทย์  โรจนศักดิ์โสธร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี นายแพทย์ดนัย  เจียรกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและควบคุมโรคที่ 10 อุบลราชธานี นายทวีศักดิ์  เที่ยงธรรม ศึกษาธิการภาค ๑๔ และท่านผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมทั้งคณะนักวิจัยและผู้ประสานงานโครงการที่เข้าร่วมประชุมและรับฟังการนำเสนอผลการศึกษาโครงการวิจัยย่อยที่ 1 - 6 ผ่านระบบออนไลน์ ณ ห้องประชุมพิบูลมังสาหาร สำนักงานอธิการบดี 2

            ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์  ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า ในนามของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ขอขอบพระคุณภาคีเครือข่ายวิจัยทั้ง 6 แห่ง ผู้อำนวยการชุดโครงการ คณะนักวิจัย ผู้ประสานงาน รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ร่วมสร้างงานวิจัยที่ทรงคุณค่า เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เป็นประโยชน์ในการจัดทำนโยบายเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของจังหวัดอุบลราชธานีสู่การเป็นเมืองต้นแบบด้านการบริการสุขภาพข้ามแดนในเขตอีสาน และสร้างคุณูปการในการยกระดับขีดความสามารถและความเชื่อมโยงด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศไทย กับ กัมพูชาและ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อันจะนำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้คนในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง และด้วยความตั้งใจที่จะเป็น “มหาวิทยาลัยในดวงใจของชุมชน เป็นหลักของท้องถิ่น และเป็นปัญญาแห่งแผ่นดิน” มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมุ่งมั่นที่จะสร้างอนาคตร่วมกับชุมชน (Sharing the Future with the Community) เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ผ่านพันธกิจด้านการจัดการศึกษา วิจัย บริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และการจัดการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ซึ่งในปี 2564 เป็นปีที่น่ายินดีและภูมิใจอย่างยิ่ง ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของประเทศ และ อันดับ 34 ของโลก ในการส่งเสริมการพัฒนาเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน (SDG11) โดย Time Higher Educationซึ่งโครงการวิจัยดังกล่าว ได้สร้างงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ท้องถิ่น และพัฒนาสู่ระดับสากล และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในเขตอีสานใต้ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในการเป็น “มหาวิทยาลัยชั้นนำในอาเซียนที่มุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตและนวัตกรรม” และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าขีดความสามารถของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยเฉพาะความเชี่ยวชาญของคณะและวิทยาลัยในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้แก่ วิทยาลัยแพทยศาสตรและการสาธารณสุข คณะเภสัชศาสตร์ และคณะพยาบาลศาสตร์ รวมไปถึงการให้บริการของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จะเป็นกลไกหนึ่งในการส่งเสริมศักยภาพการบริการสุขภาพ ซี่งไม่เพียงแต่ภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังข้ามพรมแดนเพื่อรองรับการบริการสุขภาพระหว่างประเทศอีกด้วย

             รองศาสตราจารย์สมหมาย  ชินนาค ผู้อำนวยการชุดโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า สำหรับการนำเสนอผลการศึกษาโครงการวิจัยย่อยทั้ง 6 โครงการ ผ่านระบบออนไลน์ครั้งนี้ ประกอบด้วย โครงการวิจัยย่อยที่ 1 “การศึกษาสถานการณ์และบริบทที่เกี่ยวข้องกับการบริการสุขภาพข้ามแดนของจังหวัดอุบลราชธานี”  โครงการวิจัยย่อยที่ 2 “การศึกษาสถานการณ์และบริบทที่เกี่ยวข้องกับการบริการสุขภาพข้ามแดนของจังหวัดอุบลราชธานี สุรินทร์ และศรีสะเกษ”  โครงการวิจัยย่อยที่ 3 “การศึกษารายจ่ายของผู้ป่วยชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการสุขภาพข้ามพรมแดนโรงพยาบาลในจังหวัดอุบลราชธานี”โครงการวิจัยย่อยที่ 4 “การศึกษาบริบทเกี่ยวกับการจัดการโลจิสติกส์ของการส่งต่อผู้ป่วยจากชายแดนส่งต่อศูนย์การแพทย์อุบลราชธานี” โครงการวิจัยย่อยที่ 5 “การศึกษาความคาดหวังและคุณภาพการให้บริการของสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนในจังหวัดอุบลราชธานีของผู้รับบริการชาวต่างชาติ” และโครงการวิจัยย่อยที่ 6 “การศึกษาความเป็นไปได้ของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสำหรับนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเพื่อเสริมสร้างศักยภาพจังหวัดอุบลราชธานีให้เป็นเมืองต้นแบบด้านบริการสุขภาพข้ามแดนในเขตอีสานใต้” ซึ่งนำเสนอโดยหัวหน้าโครงการวิจัยย่อยพร้อมคณะวิจัย ซึ่งในระหว่างดำเนินโครงการวิจัยนี้ ประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน คือกัมพูชา และ สปป.ลาว ตกอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 จึงส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินการเก็บข้อมูลภาคสนาม โดยเฉพาะโครงการวิจัยย่อยที่ต้องมีการเก็บข้อมูลภาคสนามนอกจังหวัดอุบลราชธานี และในพื้นที่อาณาบริเวณชายแดนของกัมพูชา และ สปป.ลาว ที่มีชายแดนติดกับจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ และสุรินทร์ สามารถทำได้ค่อนข้างลำบากหรือไม่ได้เลย ฉะนั้น โครงการวิจัยย่อยเหล่านั้นจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเก็บข้อมูลภาคสนาม ไม่ว่าจะเป็นการเก็บแบบสอบถามแบบออนไลน์ การเพิ่มนักวิจัยผู้ช่วยในพื้นที่เข้ามาในโครงการ การให้นักวิจัยในพื้นที่และผู้ประสานงานสนามในประเทศเหล่านั้นเป็นผู้เก็บข้อมูลภาคสนาม เป็นต้น จนทำให้การดำเนินการวิจัยสำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ทุกประการ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการเผยแพร่ผลการวิจัยบทสรุปสำหรับผู้บริหารของชุดโครงการวิจัยนี้ จึงได้จัดทำเป็น 4 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาลาว และภาษาเขมร

            ขอขอบพระคุณภาคีเครือข่ายวิจัยทั้ง 6 แห่ง ผู้อำนวยการชุดโครงการ คณะนักวิจัย ผู้ประสานงาน รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ร่วมสร้างงานวิจัยที่ทรงคุณค่า เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เป็นประโยชน์ในการจัดทำนโยบายเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของจังหวัดอุบลราชธานีสู่การเป็นเมืองต้นแบบด้านการบริการสุขภาพข้ามแดนในเขตอีสาน และสร้างคุณูปการในการยกระดับขีดความสามารถและความเชื่อมโยงด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศไทย กับ กัมพูชาและ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อันจะนำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้คนในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง

------------------------------------

ทิพย์วรรณ  เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว




SDG Hashtag :

Tag อื่นๆ :