มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี : Ubon Ratchathani University
 นักศึกษา    บุคลากร    ศิษย์เก่า   UBU English       |      




นักวิจัย ม.อุบลฯ น้อมนำทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ โชว์นวัตกรรม สระเก็บน้ำต้านภัยแล้ง


โพสต์โดย : ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร     วันที่ 7 กันยายน 2564 , 18:08:21     (อ่าน 1,470 ครั้ง)  



นักวิจัย ม.อุบลฯ น้อมนำทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ โชว์นวัตกรรม

“สระเก็บน้ำต้านภัยแล้ง”

-------------------------------------------------

          มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ขอแสดงความยินดีกับ ดร.ฉัตรภูมิ  วิรัตนจันทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ได้รับนักวิจัยรางวัล “ผลงานวิจัยดีเด่นสิ่งประดิษฐ์/นวัตกรรม” และเจ้าของสิทธิบัตรการประดิษฐ์ โครงการ “สระเก็บน้ำในพื้นที่ดินทรายที่ป้องกันการรั่วซึมและการกัดเซาะ” ผู้ที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาสระน้ำต้านภัยแล้งนวัตกรรมและผลงานที่ทำตามเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้เกษตรกรมีน้ำใช้เพื่อการเกษตรอย่างเพียงพอตลอดปีและใช้น้ำกับที่ดินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อให้มีกินแบบตามอัตภาพ การขุดสระน้ำเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทฤษฎีใหม่ในการเพิ่มน้ำต้นทุนให้เพียงพอต่อการใช้งานตลอดปี

            ดร.ฉัตรภูมิ  วิรัตนจันทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นักวิจัยรางวัล “ผลงานวิจัยดีเด่นสิ่งประดิษฐ์/นวัตกรรม” และเจ้าของสิทธิบัตรการประดิษฐ์โครงการ “สระเก็บน้ำในพื้นที่ดินทรายที่ป้องกันการรั่วซึมและการกัดเซาะ” กล่าวว่า สำหรับโครงการ “สระเก็บน้ำในพื้นที่ดินทรายที่ป้องกันการรั่วซึมและการกัดเซาะ” เป็นผลงานที่ได้รับแรงบันดาลใจทำตามเบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ท่านจะหาน้ำให้ประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำโดยเฉพาะปัญหาการขุดสระในพื้นที่ดินทราย ซึ่งในภาคอีสานส่วนใหญ่แล้วจะเป็นพื้นที่ที่เป็นดินเป็นทราย หากเป็นดินทรายในที่ดอนเมื่อขุดสระลงไปก็จะไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีชั้นกันซึมเพื่อให้น้ำกักเก็บไว้ได้ จึงได้ดำเนินการจัดทำสระต้นแบบขึ้นที่ฟาร์มตัวอย่างในพระองค์ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี บนพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ สามารถกักเก็บน้ำได้ตามวัตถุประสงค์ น้ำไม่เน่าเสีย เป็นแหล่งน้ำไว้ใช้ในการเกษตรและเลี้ยงปลาได้ สระต้นแบบถูกสร้างขึ้นในพื้นที่โคกดินทราย สระที่ขุดก่อนที่จะได้มีการสร้างสระต้นแบบเก็บน้ำไม่ได้เพราะเป็นบริเวณโคกดินทราย การใช้นวัตกรรมสระเก็บน้ำในพื้นที่ดินทรายทำให้สามารถกักเก็บน้ำในสระได้เนื่องจากไม่เกิดการรั่วซึมออกจากสระ พื้นที่ทั่วไปการที่สระจะเก็บน้ำใต้ดินได้ชั้นข้างล่างของสระจะต้องเป็นชั้นดินเหนียว เหนือชั้นดินเหนียวจะเป็นชั้นทรายคือชั้นน้ำใต้ดินถ้าขุดสระในพื้นที่ดินทรายตรงนั้นจะมีน้ำเพราะจะเป็นเหมือนแอ่งกระทะของดินเหนียว ปัญหาถ้าเกิดเป็นที่โคกดินทราย เติมน้ำลงไปเท่าไหร่ก็จะไหลหนีหมด ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับลักษณะชั้นดินและสภาพทางธรณีว่าจะเก็บน้ำได้หรือไม่ ต้องดูว่าชั้นดินของเรามีลักษณะแบบไหนหากเป็นที่โคก ที่เนินดินทราย ขุดสระน้ำแล้วจะไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ก็สามารถนำเอาเทคโนโลยีนี้ไปใช้ได้ หลักการสำคัญอีกประการหนึ่งนอกจากการซึมไม่ให้น้ำไหลออกแล้วก็คือเราสามารถทำพื้นที่รับน้ำฝนไว้ได้ด้วย เพราะถ้าหากน้ำตกลงดินน้ำก็จะซึมลงดิน ถ้าเรามีอาคารอยู่รอบ ๆ เช่น ฟาร์มตัวอย่างในพระองค์ก็สามารถใช้น้ำจากอาคารรอบ ๆ ทั้งหมดมาเติมเหมือนน้ำฝนที่ตกลงบนหลังคาบ้านมาเติมลงตุ่มแป๊บเดียวน้ำก็จะเต็มตุ่ม หรือถ้าเราสามารถปรับปรุงพื้นที่ปากสระโดยรอบ ๆ นั้น ซึ่งก็เป็นหนึ่งในสิทธิบัตรคือไม่ให้น้ำซึมลงดิน เมื่อฝนตกลงมาก็จะไหลลงสระเลย ฉะนั้นเราก็ทำชั้นกันซึมรอบผิวปากสระด้วยถ้าเราปล่อยตามธรรมชาติไปน้ำจะซึมลงดินแล้วจะไหลลงมาเป็นน้ำโคลน แต่ถ้าเราทำกันซึมรอบปากสระมีพื้นที่ใหญ่พอสมควรก็จะเป็นพื้นที่รับน้ำฝนมาช่วยเติมเต็มถ้าหากปล่อยไปตามธรรมชาติไม่มีพื้นรับน้ำฝนมาช่วยเติมเต็ม ไม่มีพื้นที่รับน้ำฝน ฝนตกเท่าไหร่ก็จะระเหยเท่านั้น พื้นที่รับน้ำฝนต้องใหญ่กว่าสระเหมือนกลังคาบ้านเราเมื่อฝนตกแป๊บเดียวน้ำก็เต็มตุ่ม ตุ่มก็ซึมเหมือนกับสระ ถ้าหลังคาบ้านที่ใหญ่แป๊บเดียวน้ำก็เต็มตุ่ม แต่ถ้าเราเอาตุ่มใหญ่ ๆ ไปวางกลางพื้นที่แจ้ง วางยังงัยน้ำก็ไม่เต็มตุ่มหลักการเดียวกันเพราะฉะนั้นเราต้องหาพื้นที่รับน้ำฝน แล้วเอาน้ำที่ไหลมาเติมใส่ในสระก็ปรับปรุงไม่ให้เกิดการกลัดเซาะพังทลายไม่ให้เกิดน้ำโคลนไหลเข้าสระที่มีแต่น้ำสะอาดไหลเข้ามา และถ้ามีโครงสร้างหรืออาคารอยู่รอบ ๆ ยิ่งดี เพราะสามารถใช้หลังคาอาหารหรือโครงสร้างต่าง ๆ เอาน้ำถ่ายเทลงมาได้เลยโดยตรง การที่สระมีชั้นกันซึมทำให้สามารถป้องกันน้ำซึมออกแต่ปัญหาคือในฤดูฝนน้ำใต้ดินสูงขึ้นแต่ไม่สามารถไหลเข้าสระได้ ปัญหานี้แก้โดยวาล์วทางเดียวทำให้สระรับน้ำใต้ดินเข้าสระได้ (patent pending) หรืออาจใช้สระข้างเคียงที่ไม่มีชั้นกันซึมให้เป็นสระรับน้ำใต้ดินและต่อท่อเชื่อมเข้าหากันได้โดยมีวาล์วเปิดปิดได้ (patent pending)

            จากผลงานของ ดร.ฉัตรภูมิ  วิรัตนจันทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้ที่ได้รับนักวิจัยรางวัล “ผลงานวิจัยดีเด่นสิ่งประดิษฐ์/นวัตกรรม” และเจ้าของสิทธิบัตรการประดิษฐ์ โครงการ “สระเก็บน้ำในพื้นที่ดินทรายที่ป้องกันการรั่วซึมและการกัดเซาะ” ที่สร้างชื่อเสียงครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จและความภาคภูมิใจของนักวิจัยและมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในโอกาสครบรอบ 31 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย ภายใต้วิสัยทัศน์ “มหาวิทยาลัยชั้นนำในอาเซียนที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและนวัตกรรม” และความมุ่งมั่นเป็น “มหาวิทยาลัยในดวงใจของชุมชน”

------------------------------------------

ทิพย์วรรณ  เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ ข่าว/ภาพ




SDG Hashtag :

Tag อื่นๆ :