โพสต์โดย : เพลิน วิชัยวงศ์ วันที่ 27 กรกฎาคม 2564 , 12:37:58 (อ่าน 1,238 ครั้ง)
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับ จังหวัดอุบลราชธานี และหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมสืบสานงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี 2564 จัดให้มีกิจกรรมการแสดง การสาธิต และนำชมเทียนคุ้มวัดต่างๆ งานมหกรรมการแสดงนิทรรศการ “มรดกล้ำค่า เมืองดอกบัว” รับชมผ่านออนไลน์ ไลฟ์สตรีม ผ่านเพจ ที่นี่ ม.อุบลฯ และเครือข่าย พร้อมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัดสำหรับผู้เข้าชมในสถานที่จัดงาน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 22 - 28 กรกฎาคม 2564
รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า ตามที่ จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับมอบหมายให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดนิทรรศการ มรดกล้ำค่า เมืองดอกบัว นำเสนอศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่มีคุณค่าของเมืองอุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 22 - 28 กรกฎาคม 2564 เพื่อเผยแพร่แสดงให้แก่ประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี และทั่วโลกได้รู้จัก สืบสานประเพณีวัฒนธรรมภูมิปัญญาอันดีงามและล้ำค่าของจังหวัดอุบลราชธานี โดยนำเสนอในรูปแบบออนไลน์ผ่านสื่อโซเชียล เครือข่ายเพจประชาสัมพันธ์ โดยนำเสนอนิทรรศการ ดังนี้ นิทรรศการ ตำนานเทียนหนึ่งเดียวในสยาม แสดงประวัติความเป็นมา ความเชื่อเกี่ยวกับงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา ในอดีตถึงปัจจุบัน พร้อมนำต้นเทียนจำลอง ประเภทติดพิมพ์และแกะสลัก ที่ชนะเลิศการประกวดของจังหวัดอุบลราชธานี ในแต่ละปีโชว์ในงาน นิทรรศการผลงานการออกแบบผ้าพื้นเมืองผลงานนักศึกษาคณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นิทรรศการผ้าพื้นถิ่นเมืองอุบล นิทรรศการใบลานสำคัญของเมืองอุบล นิทรรศการศิลปะและสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอีสานเมืองอุบล
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการเสวนา และการสาธิตในแต่ละวัน อาทิ การเสวนาเรื่อง“ตำนานเทียนหนึ่งเดียวในสยาม” การสาธิต การแกะสลักน้ำแข็ง การเสวนา เรื่อง ศิลปะและสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอีสานเมืองอุบล การเสวนาเรื่อง “ผ้าเมืองอุบล” การเสวนา เรื่อง ซอก เซ็ด ฮัด มัด ผี่ ใบลานเมืองอุบลราชธานี : พบกับคนซอกใบลานเมืองอุบล และ การสาธิตการแทงหยวก โดย กลุ่มช่างแทงหยวกบ้านโพนทราย อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
นับว่าเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ร่วมสืบสานประเพณีอันดีงาม แม้รูปแบบปีนี้จะปรับเปลี่ยนไป แต่ทุกคนก็สัมผัสได้ถึงความยิ่งใหญ่ในงานประเพณี ที่สืบทอดมาช้านาน สอดคล้องกับพันธกิจของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสาน และปรัชญาที่ว่า “มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีสร้างสติและปัญญาแก่สังคมบนพื้นฐานความพอเพียง” ซึ่งในปี 2564 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ก้าวสู่ปีที่ 31แห่งการก่อตั้ง ในการเป็น“มหาวิทยาลัยในดวงใจของชุมชน”
เพลิน วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ /ข่าว