มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี : Ubon Ratchathani University
 นักศึกษา    บุคลากร    ศิษย์เก่า   UBU English       |      




มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดประชุมวิชาการระดับชาติ มอบ.วิจัย ครั้งที่ 15 ภายใต้หัวข้อ Future Trends of Research and Innovation


โพสต์โดย : ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร     วันที่ 24 กรกฎาคม 2564 , 22:59:26     (อ่าน 1,426 ครั้ง)  



ม.อุบลฯ จัดประชุมวิชาการระดับชาติ มอบ.วิจัย ครั้งที่ 15

Future Trends of Research and Innovation”

---------------------------------

             เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม 2564 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดประชุมวิชาการระดับชาติ มอบ.วิจัย ครั้งที่ 15 ภายใต้หัวข้อ Future Trends of Research and Innovation” ในระหว่างวันที่ 22 – 23 กรกฎาคม 2564 ณ ชั้น 3 สำนักคอมพิวเตอร์และเครือข่าย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์  ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นประธานเปิดและ รองศาสตราจารย์ดร. ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีกล่าวรายงานและวัตถุประสงค์การจัดประชุมวิชาการระดับชาติครั้งนี้ เพื่อเป็นเวทีนำเสนอผลงานวิจัยของคณาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษา รวมทั้งนำเสนอกิจกรรมการวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือทางวิชาการของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และหน่วยงานภายนอก และเพื่อให้เกิดการพบปะ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างนักวิจัยในสาขาต่าง ๆ ตลอดจนกระตุ้น และสร้างบรรยากาศการวิจัยในมหาวิทยาลัย เกิดการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่และกลุ่มนักวิจัยทั้งในและระหว่างสถาบัน โดยมีเป้าหมายที่จะนำเสนอผลงานวิจัยและผลงานนวัตกรรมที่ผู้คนทุกชนชั้นสามารถเข้าถึงได้ อนึ่งเนื่องจากสถานะการการระบาดของโรค COVID 19 การจัดประชุมในปีนี้จึงเป็นการจัดประชุมแบบผสมผสาน กล่าวคือมีนำเสนอผ่านระบบ Online เป็นส่วนใหญ่ และมีการนำเสนอผลงานในห้องประชุมเป็นบางส่วนเท่านั้น และในปีนี้ทางมหาวิทยาลัยมีพิธีมอบรางวัลให้แก่ นักวิจัยดีเด่นและผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัล ประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุวดี  ชูประภาวรรณ อาจารย์ประจำคณะเกษตรศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภฤกษ์  จันทร์จรัสจิตต์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.มะลิวรรณ  อมตธงไชย อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.วันดี  รังสีวิจิตรประภา อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ นายวศิน  โกมุท อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุทัย  อันพิมพ์ อาจารย์ประจำคณะบริหารศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ลักษณีย์  บุญขาว อาจารย์ประจำวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข นางสาวเกสร  สายธนู อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์  ศรีศิริ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ และ ดร.ดารุณี  พุ่มแก้ว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์  ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรตินักวิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.วรศักดิ์  สุขบท อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ ได้รับรางวัลนักวิจัยที่มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการมากที่สุดด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิ่นวดี  ศรีสุพรรณ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ ได้รับรางวัลนักวิจัยที่มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการมากที่สุดด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ดร.ฉัตรภูมิ  วิรัตนจันทร์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลผลงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์/นวัตกรรม และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จีราพร  ทิพย์พิลา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปวีณา  ลิมปิทีปราการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พัจนภา  ธานี ผู้ช่วยศาสตราจารย์มินตรา  สาระรักษ์ และ นางสาวจินตนา  ศิริบูรณ์พิพัฒนา อาจารย์ประจำวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข ได้รับรางวัลผลงานวิจัยเพื่อชุมชนท้องถิ่น จากนั้นเป็นการบรรยายพิเศษ เรื่อง “ทิศทางและแนวโน้มความต้องการนวัตกรรมในธุรกิจอาหาร จากมุมมองภาคอุตสาหกรรม” โดย นายสัตวแพทย์ รุจเวทย์  ทหารแกล้ว อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเครือเบทาโกร ให้เกียรติเป็นผู้บรรยายพิเศษและถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้ข้อคิดเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้กับผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งในปีนี้มีผู้ส่งผลงานวิจัยที่ผ่านการพิจารณาเข้าร่วมนำเสนอ รวมทั้งสิ้น จำนวน 139 ผลงาน แบ่งเป็นการนำเสนอแบบบรรยาย จำนวน 73 ผลงาน และการนำเสนอแบบโปสเตอร์ จำนวน 66 ผลงาน  

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์  ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่ 31 ของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หัวข้อการประชุมดังกล่าว สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่มุ่งจะเป็น“มหาวิทยาลัยชั้นนำในอาเซียนที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและนวัตกรรม (Leading University in ASEAN Focusing on Transforming Life Quality and Innovations)” โดยมหาวิทยาลัยมีความมุ่งมั่นที่จะสร้าง และพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัย และนวัตกรรม ที่สามารถนำไปใช้ในการแก้ปัญหาของพื้นที่ สร้างเศรษฐกิจของชุมชน และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในมิติต่าง ๆ ซึ่งมหาวิทยาลัยถือเป็นพันธกิจที่สำคัญนอกเหนือจากการเรียนการสอน การจะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้นั้น จำเป็นจะต้องมีการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มนักวิจัยในมหาวิทยาลัย และเครือข่ายการวิจัยกับสถาบันต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นผู้ผลิตผลงานวิจัย องค์ความรู้และวิทยาการใหม่ ๆ อันจะได้ถ่ายทอดและเผยแพร่สู่สาธารณชน นำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม การจัดการประชุมวิชาการ จึงเป็นเสมือนเวทีกลางสำหรับนักวิจัย นักวิชาการในภาครัฐ เอกชนและชุมชน สังคม ที่จะได้มีโอกาสพบปะ แลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ร่วมกัน ตลอดจนมุ่งหวังที่จะเกิดความร่วมมือกันในการพัฒนางานวิจัย และงานริเริ่มสร้างสรรค์ที่มีคุณภาพ มีประโยชน์ สนองต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ สามารถตอบสนองความต้องการของสังคมได้ในวงกว้างและก่อให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณชนได้อย่างแท้จริง และขอแสดงความชื่นชมยินดีกับทุกท่านที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรตินักวิจัย รางวัลนักวิจัยดีเด่น และผลงานวิจัยดีเด่น หวังว่าทุกท่านจะใช้ความรู้ความสามารถทางด้านการวิจัย ในการสร้างและพัฒนางานของท่าน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติต่อไป

-----------------------------------------

ทิพย์วรรณ  เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว




SDG Hashtag :

Tag อื่นๆ :