โพสต์โดย : เพลิน วิชัยวงศ์ วันที่ 19 มิถุนายน 2564 , 23:06:32 (อ่าน 1,052 ครั้ง)
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดี กล่าวต้อนรับ คณะทำงานขับเคลื่อนงานด้านอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานีเพื่อขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันในระดับพื้นที่จังหวัด รับเกียรติจาก นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานเปิดการประชุม เพื่อพิจารณาประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนาอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมพัฒนาของจังหวัดอุบลราชธานี การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ให้เกิดมูลค่าและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้มากขึ้น โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน เข้าร่วมประชุม ณ ห้อง VIP4 โรงแรมสุนีย์แกรนด์ แอนด์ คอนเวนชั่นเซนเตอร์ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา
รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและบริการวิชาการ กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ได้ดำเนินการให้มีการจัดตั้ง อว.ส่วนหน้า ขึ้นในพื้นที่ต่างๆ เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนและผลักดันให้พื้นที่ต่างมีการนำเอาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม มาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับพัฒนาพื้นที่ให้มากขึ้น ในส่วนของจังหวัดอุบลราชธานี นั้น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ อว.ส่วนหน้า โดยได้ทำการศึกษาข้อมูลของจังหวัด พบว่าจังหวัดอุบลราชธานีเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพมากมาย ทั้งในแง่ของจำนวนประชากร ประมาณ 1.8 ล้านคน มีประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรม และภูมิปัญญาที่เป็นอัตลักษณ์ มีทรัพยากรสมบูรณ์ ได้แก่มีแหล่งน้ำค่อนข้างดี มีการทำการเกษตรในหลายมิติ ทั้งข้าว พืช ผัก ผลไม้ ปศุสัตว์ และประมงน้ำจืด อีกทั้ง ยังเป็นศูนย์กลางการสัญจรของพื้นที่ ตลอดจนมีชายแดนติดกับเพื่อนบ้าน 2 ประเทศ ได้แก่ สปป.ลาว และราชอาณาจักรกัมพูชา แต่พบว่ายังมีประเด็นปัญหาในด้านความสามารถในการแปรรูปสินค้าเกษตร ปริมาณผลผลิตต่อไร่ของสินค้าเกษตร ความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการ มาตรฐานการผลิต และความเหลื่อมล้ำ และที่ประชุมได้เห็นชอบร่างแผนพัฒนาอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งประกอบด้วย 4 ประเด็นยุทธศาสตร์ คือ การแก้ปัญหาชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม การสร้างการพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม และยกระดับ SMEs วิสาหกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม การสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
จากศักยภาพและสภาพปัญหา ดังกล่าว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำเอาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม มาเป็นเครื่องมือในการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหา และขับให้ศักยภาพพื้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ได้สูงขึ้น ดังนั้นมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงร่างแผนการพัฒนาอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมเสนอที่ประชุมพิจารณาในครั้งนี้
เพลิน วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว