โพสต์โดย : เพลิน วิชัยวงศ์ วันที่ 18 มีนาคม 2564 , 14:14:19 (อ่าน 1,494 ครั้ง)
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดเวทีนำเสนอความก้าวหน้าและผลการดำเนินโครงการวิจัย “การพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการจับคู่อุปสงค์และอุปทานสินค้าเกษตรในจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดศรีสะเกษ” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และหัวหน้าชุดโครงการวิจัย นำทีมนักวิจัยรายงานความก้าวหน้าและผลการดำเนินโครงการวิจัยฯ ดังกล่าว พร้อมทดลองใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัล Omart รับเกียรติจาก นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธาน และตัวแทนหน่วยงานภาครัฐเอกชน และกลุ่มเกษตรกรเกษตรอินทรีย์ เข้าร่วมรับฟังสรุปผล ณ ห้องประชุมปทุมวรราช ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา
รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยฯ และหัวหน้าชุดโครงการวิจัย กล่าวว่าตามที่ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในการดำเนินโครงการวิจัยฯ เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการซื้อขายผลิตผลทางการเกษตร (เกษตรอินทรีย์) จับคู่และรองรับการซื้อขายผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ โดยมีผลผลิตเกษตรอินทรีย์ภายในพื้นที่ จ.อุบลราชธานีและจ.ศรีสะเกษเป็นโครงการนำร่อง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มช่องทางและศักยภาพในการซื้อและขายผลผลิตเกษตรอินทรีย์ แพลตฟอร์มดิจิทัลจะให้สารสนเทศต่าง ๆ ของทั้งฝั่งอุปสงค์ เช่น รายละเอียดเกี่ยวกับเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกร ประเภทผลผลิตที่เพาะปลูก ปริมาณของผลผลิตที่เพาะปลูกได้ วันเวลาในการเก็บเกี่ยวผลผลิต มาตรฐานหรือวิธีการเพาะปลูก ราคาขาย เป็นต้น และฝั่งอุปทาน เช่น ประเภทของผลผลิตที่ต้องการ ปริมาณของผลผลิตที่ต้องการ วันเวลาที่ต้องการผลผลิต ราคาซื้อ เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว แพลตฟอร์มดิจิทัลจะทำหน้าที่ในการจับคู่ระหว่างอุปสงค์และอุปทาน โดยนำเสนอผู้ผลิต (อุปสงค์) หรือผู้บริโภค (อุปทาน) ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับข้อมูลที่ผู้ใช้ได้ป้อนเข้าไป จากแพลตฟอร์มดิจิทัลที่จะพัฒนาขึ้นมา ในโครงการวิจัยนี้ ผู้ผลิตจะสามารถวางแผนและตัดสินใจในการเพาะปลูกได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากมีสารสนเทศเกี่ยวกับความต้องการของผลผลิตเกษตรอินทรีย์ ในขณะที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและได้มีผลผลิตเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากมีสารสนเทศเกี่ยวกับผู้ผลิตและผลผลิตเกษตรอินทรีย์ แพลตฟอร์มดิจิทัลนี้จะสามารถช่วยให้การซื้อขายผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ได้ในทุกโอกาส รวมถึงในสถานการณ์ที่มีเกิดเหตุภัยพิบัติหรือโรคระบาด ซึ่งโครงการดำเนินการมาแล้วเป็นระยะเวลา 5 เดือน โดยความร่วมมือทีมนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภฤกษ์ จันทร์จรัสจิตต์ นักวิจัย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า เป้าหมายของโครงการวิจัย เพื่อเป็นจุดศูนย์กลางที่เป็นแหล่งสารสนเทศดิจิทัลที่เชื่อมโยงระหว่างเกษตรกร (ผู้ขาย) และผู้บริโภค โดยเกษตรกรผู้ขายสามารถรวบรวมข้อมูล รายชื่อ แหล่งที่ตั้ง ปริมาณของผลิตผลเกษตรอินทรีย์ เพิ่มข้อมูลกระบวนการผลิต ในระบบสารสนเทศได้ เพื่อเป็นประโยชน์กับทั้งตัวเกษตรกรเองและผู้บริโภคที่สามารถคาดการณ์ และจับจองซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้ โดยรวบรวมข้อมูลกำลังการผลิตผลผลิตทางการเกษตร (เกษตรอินทรีย์) ความต้องการผลผลิตทางการเกษตร และพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการซื้อขายผลิตผลทางการเกษตร ทีมวิจัย ได้พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการซื้อขายสินค้าเกษตร พร้อมทดสอบและปรับปรุงแพลตฟอร์มดิจิทัล ผู้ซื้อ สามารถประกาศซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ต้องการ เลือกสินค้า รวบรวมสินค้าก่อนจะทำการยืนยันและชำระเงิน ผู้ขาย สามารถเลือกขายสินค้าตามความต้องการ หรือประกาศขายสินค้าของตนเองได้ ทั้งนี้ ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องลงทะเบียนเข้าใช้งานในระบบ ใช้ที่อยู่ เลขบัตรประชาชน และหมายเลขโทรศัพท์มือถือหรือ ID line ในการยืนยันข้อมูลเพื่อความปลอดภัย เมื่อเป็นสมาชิกแล้วสามารถค้นหาสินค้า แล้วทำการซื้อขายสินค้าได้ "สะดวก สบาย ปลอดสารพิษ ชีวิตมีสุข"
นับเป็นอีกหนึ่งผลงานวิจัยที่สอดคล้องกับพันธกิจมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี “สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่นำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” และยุทธศาสตร์ที่ 2 “สร้างงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ท้องถิ่น และพัฒนาสู่ระดับสากล”
ลิ้งค์ข้อมูลเพจ และเว็ปไซต์ www.facebook.com/omart.ubu
เพลิน วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว