โพสต์โดย : เทอดภูมิ ทองอินทร์ วันที่ 16 มีนาคม 2564 , 14:10:45 (อ่าน 1,452 ครั้ง)
ศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค ณ คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลฯ
ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์สิทธิฯ ของชุมชนใน จ.อุบลฯ
พร้อมประสานการแก้ไขปัญหาร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ องค์กรภาคีสหประชาชาติ คณะทูต
เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2564 ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้บรรยายสรุปปัญหาและสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในจังหวัดอุบลราชธานีและพื้นที่ไกล้เคียงเพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นก่อนการลงพื้นที่รับฟังปัญหาจากประชาชนในพื้นที่ โดยมีผู้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นดังนี้ นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ Ms. Cynthia Veliko ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Dr. Sarah Taylor เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย ผู้แทนจากสถานทูตนิวซีแลนด์ Mr. Renaud Meyer ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP) ผู้แทนจากสถานทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย Mr. Phil Robertson รองผู้อำนวยการ สำนักเอเชีย องค์กร Human Rights Watch (HRW) และ ผศ.ดร.จันทรา ธนะวัฒนาวงศ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนานักศึกษา คณาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ลงพื้นที่เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยช่วงเช้าได้เดินทางไปยังชุมชนหาดสวนยา และชุมชนท่าบ้งมั่ง อ.วารินชำราบ ซึ่งเป็นพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำมูล รองรับน้ำและประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำ แต่ชุมชนมีแกนนำเป็นกลุ่มสตรีที่เข้มแข็งและได้ร่วมกันจัดทำผังหมู่บ้านเพื่อทำพื้นที่ระบายน้ำ นอกจากนี้ยังใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อเฝ้าระวังและเตรียมตัวอพยพ โดยสังเกตจากต้นงวงช้างซึ่งเป็นพืชประจำถิ่น
จากนั้นได้ร่วมรับฟังปัญหาจากชุมชนในเขตที่ราชพัสดุ ณ ชุมชนบ้านมั่นคง วัดกุดคูณ อ.เมืองอุบลราชธานี ในประเด็นการออกแบบบ้านที่อยู่อาศัยและการวางผังชุมชนเพื่อจะสามารถขอเอกสารรับรองการใช้ที่ดินราชพัสดุตามกฎหมายที่กำหนดไว้ได้ โดยศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้ร่วมกับกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการดำเนินการเตรียมจัดเวทีรับฟังปัญหาเพื่อให้คำปรึกษาแนวทางการแก้ปัญหาต่อไป
ในช่วงบ่าย ได้ลงพื้นที่หมู่บ้านท่าวารี อ.เขื่องใน เพื่อศึกษาประเด็นสิทธิในการศึกษา โดยเฉพาะกรณีการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งนักเรียนในชุมชนที่เคยศึกษาในโรงเรียนบ้านท่าวารีในปัจจุบันได้เดินทางไปเรียนร่วมกับนักเรียนจากอีก 4 โรงเรียน ณ โรงเรียนบ้านยางน้อย ถือเป็นต้นแบบการยกระดับการศึกษาที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการบริการวิชาการของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จากนั้นได้เยี่ยมชมวัดและศิปะวัฒนธรรมท้องถิ่นที่อำเภอเขื่องใน