มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี : Ubon Ratchathani University
 นักศึกษา    บุคลากร    ศิษย์เก่า   UBU English      




ทีมวิจัย ม.อุบลฯ สรุปกิจกรรมการนำเสนอรายงานความก้าวหน้าโครงการวิจัย รอบ 6 เดือน ภายใต้โครงการ เครือข่ายคุณค่าและความเป็นท้องถิ่นสู่การสร้างระบบนิเวศอาหารปลอดภัยใน จ.อุบลฯ


โพสต์โดย : ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร     วันที่ 23 ธันวาคม 2563 , 11:56:54     (อ่าน 1,211 ครั้ง)  



ทีมวิจัย ม.อุบลฯ สรุปกิจกรรมการนำเสนอรายงานความก้าวหน้าโครงการวิจัย รอบ 6 เดือน

ภายใต้โครงการ “เครือข่ายคุณค่าและความเป็นท้องถิ่นสู่การสร้างระบบนิเวศอาหารปลอดภัยในจังหวัดอุบลราชธานี”

------------------------------------

          เมื่อวันอังคารที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2563 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดโครงการ “เครือข่ายคุณค่าและความเป็นท้องถิ่นสู่การสร้างระบบนิเวศอาหารปลอดภัยในจังหวัดอุบลราชธานี” ซึ่งเป็นโครงการวิจัยต่อเนื่องปีที่ 2 ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 2 ของมหาวิทยาลัย “สร้างงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ท้องถิ่น และพัฒนาสู่ระดับสากล” โดยมี นายสฤษดิ์  วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ให้เกียรติร่วมรับฟังและให้ข้อเสนอแนะโครงการวิจัย เพื่อนำไปปรับปรุงให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต  ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและบริการวิชาการ ผู้อำนวยการชุดโครงการวิจัย กล่าวต้อนรับ แนะนำผู้ทรงคุณวุฒิ ชี้แจงวัตถุประสงค์ และเป้าหมายของโครงการ และ ดร.จริยาภรณ์  อุ่นวงษ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย บริการวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ผู้บริหารชุดโครงการ พร้อมทีมนักวิจัยจาก 5 คณะ ได้แก่ นักวิจัยจากคณะบริหารศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ รวมทั้งสิ้นจำนวน 40คน นำเสนอรายงานความก้าวหน้าโครงการวิจัยโดยทีมนักวิจัย เพื่อให้ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาให้ข้อเสนอแนะโครงการวิจัย ณ ชั้น 5 ห้องปทุมมาศ โรงแรมสุนีย์แกรนด์ โฮเทล แอน คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดอุบลราชธานี

          รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต  ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและบริการวิชาการ ผู้อำนวยการชุดโครงการวิจัย กล่าวว่า สำหรับวัตถุประสงค์การจัดโครงการครั้งนี้ เพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนและกระจายรายได้ ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรในพื้นที่ ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนทั้ง เกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตร บ้านบัวเทิง เกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดใหญ่  ผู้ประกอบการในตลาดดอนกลาง ผู้บริหารตลาดดอนกลาง ผู้ประกอบการใหม่ มูลนิธิสื่อสร้างสุข หน่วยงานราชการ  สำนักงานสาธารณสุข สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานพาณิชย์ สำนักงานเกษตร สำนักงานปศุสัตว์ สำนักงานประมง ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7 สำนักงานอุตสาหกรรม สำนักงานพัฒนาชุมชนในจังหวัดอุบลราชธานี ครอบคลุมทั้งระบบ “นิเวศอาหารปลอดภัยจังหวัดอุบลราชธานี”  

          ดร.จริยาภรณ์  อุ่นวงษ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย บริการวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ผู้บริหารชุดโครงการ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดโครงการ “เครือข่ายคุณค่าและความเป็นท้องถิ่นสู่การสร้างระบบนิเวศอาหารปลอดภัยในจังหวัดอุบลราชธานี” ซึ่งทางมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้ดำเนินโครงการวิจัยดังกล่าวต่อเนื่องเป็นปีที่ 2แล้ว และในปีงบประมาณ 2563 ได้กำหนดให้มีชุดโครงการย่อย จำนวน 8โครงการ ภายใต้โครงการ “เครือข่ายคุณค่าและความเป็นท้องถิ่นสู่การสร้างระบบนิเวศอาหารปลอดภัยในจังหวัดอุบลราชธานี” ประกอบด้วย (1) โครงการการพัฒนาระบบและการประยุกต์ใช้หลักการข้อมูลขนาดใหญ่สำหรับการบริหารจัดการข้อมูลอาหารปลอดภัย (2) โครงการการพัฒนาโซ่อุปทานสินค้าเกษตรอินทรีย์สำหรับตลาดปลอดภัย (3) โครงการการยกระดับคุณค่าและมูลค่าผลิตภัณฑ์อาหารปลอดภัย : ศึกษากรณีบ้านบัวเทิง จ.อุบลราชธานี (4) โครงการการพัฒนาระบบตลาดดิจิทัลและเกษตรอัจฉริยะสำหรับเกษตรอินทรีย์ (5) โครงการระบบการจัดส่งผักปลอดภัย “ผักดีดี” จังหวัดอุบลราชธานี (6) โครงการการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และการขนส่งอย่างยั่งยืนสำหรับห่วงโซ่อาหารปลอดภัยในจังหวัดอุบลราชธานี (7) โครงการการยกระดับสถานประกอบการเพื่อผลิตอาหารปลอดภัย และ (8) โครงการการสร้างธุรกิจสีเขียวผ่านการแปลงขยะในระบบอาหารเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพในจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีเป้าหมายผลผลิต ดังนี้ 1) กลุ่มวิสาหกิจ/ผู้ประกอบการเป้าหมายได้รับการสร้างและพัฒนาประกอบด้วย วิสาหกิจ จำนวน 6ราย ผู้ประกอบการธุรกิจ และ startup จำนวน 5ราย แผงอาหาร และแผงค้าในตลาดสด รวม 46ราย 2) Platform ข้อมูลสนับสนุนระบบตลาด Digitalจำนวน 2ระบบ ที่พัฒนาและนำไปใช้งาน 3) Platform ข้อมูลสนับสนุนรองรับการวางแผนเชิงนโยบายและแก้ปัญหาแบบทันเวลา 1ระบบ 4) คณะทำงานที่บูรณาการผู้มีส่วนได้เสียครอบคลุมตลอดระบบนิเวศ และ 5) กลไกการทำงานเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่ หลังจากการนำเสนอผลงานความก้าวหน้าแต่ละโครงการการเรียนร้อยแล้ว เป็นการลงพื้นที่เยี่ยมชมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตร บ้านบัวเทิง เพื่อพูดคุยรับฟังปัญหาและให้แนวทางข้อเสนอแนะในการดำเนินการทำธุรกิจร่วมกันกับทางมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ต่อไป

          สำหรับการจัดประชุมครั้งนี้ เป็นการสรุปผลการดำเนินงานรอบ 6เดือน และเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รับฟังข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินงาน และขยายผลสร้างเครือข่าย เพื่อให้การดำเนินงานมีผลกระทบและเป็นประโยชน์ในวงกว้าง ทั้งนี้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ขอขอบพระคุณทุกภาคส่วนทั้งเครือข่ายจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ภาคเอกชน ภาคประชาชน สื่อมวลชน และนักวิจัยทุกคนที่เป็นกลไกสำคัญในการร่วมกันขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าและคุณค่าต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจะได้รับเกียรติและความร่วมมือเป็นอย่างดีอย่างเช่นเดียวกันนี้ในวาระและโอกาสต่อไป

-------------------------------------------

ทิพย์วรรณ  เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว




SDG Hashtag :

Tag อื่นๆ :