มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี : Ubon Ratchathani University
 นักศึกษา    บุคลากร    ศิษย์เก่า   UBU English      




น้องพี่ชาว ม.อุบลฯ รวมพลัง จิตอาสา แหล่งทานน้ำใจช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม


โพสต์โดย : เทอดภูมิ ทองอินทร์     วันที่ 27 กันยายน 2562 , 10:02:08     (อ่าน 1,714 ครั้ง)  



น้องพี่ชาว ม.อุบลฯ รวมพลัง จิตอาสา แหล่งทานน้ำใจช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม

 

                 สถานการณ์น้ำท่วมหลายพื้นที่ในจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2562 นี้ กลายเป็นเหตุการณ์รวมน้ำใจของคนไทยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเองก็เป็นส่วนหนึ่งส่งต่อความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัย ด้วยการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ในชื่อ WIMS จากการร่วมแรงร่วมใจของบุคลากรและนักศึกษาทุกคณะ สวมบทบาท ‘จิตอาสา’ ที่ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เราทำด้วยใจจริงเพื่อพี่น้องชาวอุบลฯ ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดให้เป็นศูนย์กลางการทำงานรับและส่งมอบของบริจาคช่วยเหลือน้ำท่วมจากทุกพื้นที่ เราได้พบจิตอาสามากมายที่นี่..

                 ดร.พัชริดา ปรีเปรม อาจารย์คณะศิลปะประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้ข้อมูลเกี่ยวกับระบบการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม (WIMS) จัดตั้งโดยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ระบบการช่วยเหลือของ WIMS ประกอบด้วยการทำงานสี่วงคือ วงที่หนึ่งเป็นช่องทางรับเรื่องร้องทุกข์ขอความช่วยเหลือจากผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆ ว่าต้องการความช่วยเหลืออะไร วงที่สองทีมงานร่วมกันวิเคราะห์ ว่าพื้นที่ต่างๆ ที่ส่งเรื่องเข้ามา เราสามารถช่วยเหลือได้อย่างไร ส่วนวงที่สามคือการจัดระบบสิ่งสนับสนุนทุกอย่าง เช่นงบประมาณ เงินบริจาค สิ่งของเครื่องใช้ที่ได้รับบริจาคมา เราจะจัดแบ่งเป็นส่วนๆ เพื่อง่ายในการส่งมอบ และวงที่สี่เป็นวงของการรับจิตอาสา โดยเปิดรับให้บุคลากรและนักศึกษาในมหาวิทยาลัยได้ลงชื่อแจ้งความประสงค์ และทางศูนย์นัดหมายวันเวลาในการทำงานแต่ละวัน ซึ่งทั้งสี่วงนี้จะทำงานสอดรับกันทั้งหมด

ส่วนสำคัญที่มหาวิทยาลัยเข้มงวดเป็นพิเศษคือ การรับเงินบริจาค ดร.พัชริดา อธิบายว่า เงินบริจาคที่เข้ามา ทางมหาวิทยาลัยฯ มีการออกใบเสร็จถูกต้องตามระเบียบราชการ และศูนย์ WIMS ไม่ได้มีแค่เรื่องเงินแต่จะรวมสิ่งของด้วย เช่น ของทุกอย่างที่เข้ามาบริจาคจะถูกเอาเข้าระบบทั้งหมด ดังนั้นจะมีของสต็อกกลางไว้ จากนั้นทำการวิเคราะห์ตามความต้องการของพื้นที่ที่ส่งเรื่องขอความช่วยเหลือเข้ามา ซึ่งจะสอดรับกันมาจากการแจ้งเรื่องในระบบ WIMS

                   นอกจากนี้ ดร.พัชริดา เล่าให้เห็นภาพรวมของระบบ WIMS ในวงที่หนึ่งว่า การแจ้งเรื่องขอความช่วยเหลือในระบบ ส่วนใหญ่คือคนในพื้นที่แจ้งเองโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นผู้ประสบภัยหรือตัวแทนชุมชนแจ้งเข้ามา ตามขั้นตอนคือ เข้าไปในเมนูแจ้งขอความช่วยเหลือ เมื่อแจ้งเสร็จให้ระบุชื่อและรายละเอียดของสถานที่ เบอร์โทรติดต่อ เมื่อศูนย์ฯ รับเรื่อง ทางคอลเซนเตอร์จะทำการโทรฯ ตรวจสอบก่อนว่า ความช่วยเหลือที่ขอเข้ามามีหน่วยงานไหนเข้าไปช่วยแล้วหรือยัง สาเหตุที่เราต้องเช็คก่อนเพราะบางครั้งอาจจะไปทำงานซ้ำกับหน่วยงานอื่นได้ จากนั้นทีมงานจะวิเคราะห์ว่ามีจุดไหนบ้างที่เราสามารถเข้าไปเองได้ ถ้าเข้าไปได้เราจัดส่งของและจิตอาสาลงไป หากกรณีที่เกินความสามารถของเรา ก็จะส่งต่อให้หน่วยงานอื่น บริเวณหน้าอาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบฯ เราพบรถบรรทุกของทหารที่มารับของบริจาค และนักศึกษาจิตอาสากำลังลำเลียงสิ่งของขึ้นรถ บุษบา เฉียบแหลม นักศึกษาจิตอาสาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นผู้มาทำงานจิตอาสาตั้งแต่วันแรกที่เปิดศูนย์ฯ เธอเล่าว่าเคยเป็นผู้ประสบภัยน้ำท่วม ได้สัมผัสถึงความลำบาก จึงอยากช่วยเหลือเท่าที่จะช่วยได้ หน้าที่หลักคือ แพ็คสิ่งของที่ตึกอธิการบดี พอแพ็คเสร็จเธอก็จะลำเลียงของไปขึ้นรถทหาร เพื่อนำไปให้ผู้ประสบภัยต่อไป ส่วนประสบการณ์จากการเป็นจิตอาสา บุษบาบอกว่า ได้เรียนรู้การทำงานเพื่อส่วนรวมมากขึ้น เห็นน้ำใจที่คนในสังคมช่วยเหลือคนที่ลำบาก เป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ ทุกครั้งที่ได้ลงพื้นที่ได้เห็นถึงความสามัคคีของคนในชุมชน ชาวบ้านยิ้มแย้มและดูตื่นเต้นเวลาที่มารับของจากเรา’ บุษบา เฉียบแหลม

                    ภัทรกฤต นนท์ปัญญา ณัฐชัย เจียรกุล นักศึกษาจิตอาสาคณะวิศวกรรมศาสตร์ สองหนุ่มบอกว่าแม้ไม่ได้เป็นคนอุบลฯ ไม่เคยเป็นผู้ประสบภัย แต่เห็นข่าวน้ำท่วมแล้วอยากเป็นอีกแรงที่สามารถช่วยผู้เดือดร้อนได้ ผมเห็นประกาศจากทางมหาวิทยาลัยรับสมัครจิตอาสาช่วยน้ำท่วม และเป็นวันที่ไม่มีเรียนพอดีเลยชวนกันมา มีหน้าที่หลักๆ คือ ช่วยยกของไม่ว่าจะเป็นน้ำดื่ม เสื้อผ้า ข้าว อาหารแห้ง ยกทุกอย่างแหละครับ

‘รู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือ เพราะเห็นจากข่าวปีนี้น้ำท่วมหนักมาก ดังนั้นอยากช่วยเท่าที่จะพอช่วยได้’ ภัทรกฤต นนท์ปัญญา

มณีรัตน์ ปรีชาศุภมาศ, ช่อผกา ตั้งจรูญศรี นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ และนางสาวธิชา สกุลจาป นักศึกษาจิตอาสาคณะบริหารศาสตร์ ทั้งสามมาเจอกันเพราะงานจิตอาสาได้บอกเล่าประสบการณ์ลงพื้นที่ช่วยน้ำท่วมว่า สัมผัสได้ถึงความยากลำบากในการใช้ชีวิตของผู้ประสบภัย และได้เห็นถึงน้ำใจของคนในสังคมที่พยายามช่วยเหลือกันและกัน โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน

‘ดีใจที่ได้ทำเพื่อสังคมมากขึ้น จากที่เมื่อก่อนไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ พอมีเหตุการณ์นี้เลยอยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือ แม้จะเป็นส่วนเล็กๆ’ มณีรัตน์ ปรีชาศุภมาศ

                   นางสาววชิราภรณ์ วันดี และนางสาวประภารินทร์ จันทรมณี นักศึกษาจิตอาสาคณะศิลปศาสตร์ เล่าถึงความประทับใจจากการเป็นจิตอาสา ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือ ก่อนหน้านี้ที่ทางมหาวิทยาลัยมีประกาศลงชื่อเป็นจิตอาสา เราทั้งสองก็ตัดสินสินใจเข้าร่วมทันที และอยากเชิญชวนเพื่อนๆ ให้มาร่วมกิจกรรมนี้ เพราะเป็นสิ่งที่ดี ได้บรรเทาความลำบากของชาวบ้านด้วย

นอกจากศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม WIMS ในนามมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีแล้ว ยังมีหน่วยเล็กๆ ในนามสาขาวิชาพัฒนาสังคม คณะศิลปศาสตร์ที่ร่วมใจกันช่วยเป็นสื่อกลางในการรับบริจาคและช่วยเหลือน้ำท่วม

                  ทรรศนีย์ พรมหนองแสน นักศึกษาสาขาพัฒนาสังคม คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เล่าถึงจุดเริ่มต้นงานจิตอาสานี้ว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมในช่วงสองสามวันแรก (7-8 กันยายน 2562) อาจารย์ธวัช มณีผ่อง ได้ประชุมกับนักศึกษาชั้นปี 4 ในห้องว่าเราจะทำอะไรในเหตุน้ำท่วมนี้ได้บ้าง แล้วก็ได้ข้อสรุปว่า เราจะรับบริจาคเงิน สิ่งของเครื่องใช้ เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย จากนั้นก็เปิดบัญชีธนาคารรับบริจาค และตั้งโต๊ะรับสิ่งของช่วยเหลือบริเวณหน้าโรงละครคณะฯ ซึ่งมีคนร่วมบริจาคสิ่งของต่างๆ มากมายทั้งคนภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ส่วนสิ่งที่ได้จากการเป็นจิตอาสาในครั้งนี้ ทรรศนีย์บอกว่า เป็นประสบการณ์นอกห้องเรียนที่หาไม่ได้ในสมุดเล็คเชอร์ เราเรียนทฤษฎีเกี่ยวกับชุมชนมากมาย แต่เมื่อได้ลงพื้นที่ เห็นปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน คนละเรื่องกับที่เรียนในห้องเลย ทำให้เห็นและเข้าใจสภาพ และบริบทของแต่ละชุมชนที่แตกต่างกัน และรู้สึกดีที่ได้ช่วยเหลือ เห็นถึงความพร้อมในการรับมือกับภัยน้ำท่วมของชุมชนต่างๆ เมื่อถามว่าทีมจิตอาสาสาขาพัฒนาสังคมจะทำงานนี้ไปถึงเมื่อไหร่ เธอตอบว่า ช่วยจนถึงให้ชาวบ้านเข้าอยู่บ้านได้ หลังจากที่น้ำลดเราจะลงไปช่วยทำความสะอาดและช่วยซ่อมแซมบ้านเรือนตามชุมชน จิตอาสา ทำงานเพื่อชุมชนและสังคม คิดและทำด้วยใจ ประสบการณ์นอกห้องเรียนของนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

เรื่อง : ศศิประภา กันฉาย
ภาพ : ชาคริส ศุภจิตต์
นักศึกษาชั้นปี 4 สาขานิเทศศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์




SDG Hashtag :

Tag อื่นๆ :