มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี : Ubon Ratchathani University
 นักศึกษา    บุคลากร    ศิษย์เก่า   UBU English      




ม.อุบลราชธานี (มอบ.) ร่วมกับ สนง.ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และ ส.พัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (สสท.) พัฒนาผ้าพื้นเมืองอีสานสู่การแข่งขันตลาดสากลระดับโลก


โพสต์โดย : ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร     วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 , 23:48:26     (อ่าน 1,164 ครั้ง)  



ม.อุบลราชธานี (มอบ.) ร่วมกับ สนง.ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

และ ส.พัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (สสท.) พัฒนาผ้าพื้นเมืองอีสานสู่การแข่งขันตลาดสากลระดับโลก

---------------------------------------

           เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (มอบ.)ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (สสท.) จัดงานแถลงข่าวเปิดตัว“โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มศักยภาพสู่ตลาดสากล (SME Product Development)”โดยมี นายศุภศิษย์  กอเจริญยศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวต้อนรับ และ นายสุวรรณชัย  โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวแถลงข่าวเปิดตัว “โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มศักยภาพสู่ตลาดสากล (SME Product Development)” เพื่อส่งเสริมธุรกิจสิ่งทอผ้าผืนพื้นเมืองแปรรูปเป็นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายแฟชั่นที่ทันสมัย ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยและวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ภาคอีสาน โดยโครงการนี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นผู้ให้การสนับสนุนหลัก จากนั้นเป็นการเสวนา หัวข้อ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มศักยภาพสู่ตลาดสากล” โดยมีผู้ร่วมการเสวนาครั้งนี้ ประกอบด้วย นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกล่าวถึง บทบาทหน้าที่ สสว. และแนวทางการส่งเสริม SMEสู่ยุค 4.0และการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่พัฒนา SMEรองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต  ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวถึง กิจกรรมที่จะดำเนินการเพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ในโครงการ ดร.ชาญชัย  สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวถึง การเชื่อมโยงตลาดผ้าท้องถิ่นอีสาน นายบุญเสก  พันธุ์อุดม ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) นายกนก  พื้นชมภู ผู้แทนจากธนาคารออมสิน (GSB) และ นายเสถียร  สายกันดก ผู้แทนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวถึง โปรแกรมแนวทางที่จะเชื่อมแหล่งทุนให้กับผู้ประกอบการ และ นายมีชัย  แต้สุจริยา ผู้คิดค้นลายผ้ากาบบัว เจ้าของบ้านคำปุนกล่าวถึง แนวคิดในการพัฒนาผ้าไทยสู่สากล และความสำเร็จที่ผ่านมาของธุรกิจด้านผ้าไทย เมื่อเสร็จสิ้นการเสวนาแล้วเป็นมินิแฟชั่นโชว์ “ผ้าไทยอีสาน” จากนางแบบมืออาชีพ จากนั้นประธานในพิธีและแขกผู้มีเกียรติร่วมชมนิทรรศการ “ผ้าท้องถิ่นอีสาน” ณ ลานบึงบัว ชั้น 3 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซาอุบลราชธานี

            นายสุวรรณชัย  โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า เป้าหมายการทำงานของ (สสว.) ในปีนี้ว่า SPEED คือ นโยบายหลักในการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนา SME ไปสู่การเป็น Modernization โดยมาจากคำว่า Smart ความฉลาดรอบรู้ Proactive การทำงานเชิงรุก Efficiency มีประสิทธิภาพ Exclusive มีความพิเศษ และ Digitalization พร้อมปรับกระบวนการทำงานสู่ระบบดิจิทัล ซึ่งเป็นกลไกหลัก นอกจากนี้ สสว. ยังแบ่งผู้ประกอบการเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ Born Strong/ Born Global/ Born General/ Born@50 plus และ Born Digital หรือกลุ่มผู้ประกอบการที่เป็น e-commerce ซึ่งปีที่ผ่านมา สสว. จัดอบรมผู้ประกอบการกลุ่มนี้ผ่านทางโครงการ SME ONLINE และจัดทำแอพพลิเคชั่น SME CONNEXT เพื่อให้ผู้ประกอบการรับทราบข่าวกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ของ สสว. และยังเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นที่สนับสนุนผู้ประกอบการ SME รวมทั้งได้จัดทำเว็บไซต์ SME ONE (www.smeone.info) เพื่อให้เป็นช่องทางการเข้าถึงข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับ SME ในทุกมิติ

          “การจัดงานวันนี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่เป็นภารกิจของ สสว. การพัฒนาสินค้าที่ต้องใช้องค์ความรู้และเงินทุน และถือเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการจะได้ยกระดับสินค้าให้ตรงตามความต้องการของกลุ่มลูกค้า ผมหวังว่า การเข้าร่วมอบรมครั้งนี้ ท่านผู้ประกอบการคงจะได้ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจในอนาคต”

          รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต  ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มศักยภาพสู่ตลาดสากล (SME Product Development) ปีงบประมาณ 2562 เป็นโครงการมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้รับงบประมาณสนับสนุนให้ดำเนินโครงการจาก สสว. โดยมีแนวคิดที่พัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้เทคโนโลยีช่วยในการออกแบบ เพื่อเพิ่มศักยภาพสู่ตลาดสากล โดยเน้นผ้าไทยกลุ่มภาคอีสาน ที่มีจุดเด่นคือ พื้นที่ตั้งใกล้กับประเทศลาวและแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นพื้นที่กลุ่มที่มีวัฒนธรรมในการทอผ้าที่ค่อนข้างเด่นทั้งด้านสีสันและเทคนิควิธีการทอ และกลุ่มที่ติดกับประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นกลุ่มมีการทอผ้าที่เป็นลักษณะพิเศษเป็นของตนเอง   

          “เราเห็นว่า ผ้าในภูมิภาคนี้ สามารถพัฒนาให้มีความน่าสนใจทั้งด้านรูปลักษณ์ความสวยงาม ตลอดจนอรรถประโยชน์ในการใช้สอย จนสามารถเป็นสินค้าของฝากของที่ระลึกได้ แต่ยังไม่สามารถผลิตขายในเชิงพาณิชย์ได้ ปัญหาส่วนใหญ่เป็นเพราะขาดการพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่มีความสอดคล้องต่อเนื่องกัน รวมถึงอาจเป็นเพราะไม่ได้มีการวิเคราะห์ตลาดก่อน ซึ่งนอกเหนือจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณค่าและเพิ่มมูลค่าแล้ว ยังมีการส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีศักยภาพไปเปิดตลาดการค้าทั้งในและต่างประเทศ”

          สำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติจากผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ด้านธุรกิจและการตลาดสมัยใหม่ (Business) ให้มีทักษะในด้านการออกแบบ(Art & design) ด้านการสร้างต้นแบบสินค้า (Pattern) และด้านการนำเทคโนโลยีนวัตกรรม (Technology and innovation) ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองเข้ามามีส่วนช่วยการพัฒนาในขั้นตอนต่าง ๆ ของการดำเนินธุรกิจ จำนวน 1,000 ราย เป็นเวลา 2 วัน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 มี 8 จังหวัด (อุดรธานี หนองบัวลำภู เลย ขอนแก่น นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์) และ กลุ่มที่ 2 มี 9 จังหวัด (อุบลราชธานีศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ มุกดาหาร นครพนม กาฬสินธุ์ สกลนคร และบึงกาฬ) และจะมีการคัดเลือกเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองเป็นสินค้าแปรรูป จำนวน 100 ราย 1,000  ผลิตภัณฑ์ โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญช่วยแนะนำการสร้างต้นแบบ และการแนะทำทางด้านการตลาดโดยใช้เทคโนโลยี เป็นเวลา 4 man day ซึ่งหลังจากจบโครงการจะก่อให้เกิดผลลัพธ์รายได้กับผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท

          ดร.ชาญชัย  สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (สสท.) กล่าวว่า โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มศักยภาพสู่ตลาดสากล ปีงบประมาณ 2562 จะเป็นโครงการที่มุ่งเน้นการพัฒนาผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการอย่างครบวงจร คือ คิด ผลิต และขาย การเชื่อมโยงตลาด มีการคัดสุดยอดผลิตภัณฑ์เพื่อไปเผยแพร่ในการทดสอบตลาดและช่องทางการจัดจำหน่ายในรูปแบบโดยผลิตภัณฑ์ 100 คอลเลคชั่น (1,000 ผลิตภัณฑ์) ที่สถาบันพัฒนาพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอร่วมกับ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีพัฒนาจะได้นำไปจัดแสดงในพิธีปิดโครงการ ณ ลานควอเธียแกลอรี่ ชั้น 1 ศูนย์การค้าเอ็มควอเธีย ในวันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม 2562  โดยในปีนี้ ผู้ประกอบการที่ได้รับการคัดเลือกเป็นสุดยอดผลิตภัณฑ์ มีโอกาสไปทดสอบตลาดที่ Hong Kong Fashion Week เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และงาน TEXWORLD Apparel Sourcing USA (Summer) นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา

          สำหรับการจัดงานแถลงข่าวในครั้งนี้ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ใหกับกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าร่วมโครงการได้รับทราบรายละเอียดโครงการ โดยในงานมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับผ้าท้องถิ่นอีสานมีการคัดเลือกลายผ้าที่โดดเด่นในแต่ละพื้นที่มาจัดแสดงเพื่อให้ผู้ร่วมงานได้ชมความงานของลายผ้าแต่ละท้องถิ่นของอีสานและการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ทันสมัย และการเสวนาพิเศษของหน่วยร่วมดำเนินงาน

          ผู้ประกอบการ SME ที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมและสมัครเข้าร่วมโครงการกับหน่วยงานร่วมในแต่ละพื้นที่โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น รวมทั้งติดตามรายละเอียดได้ที่ www.smeonline.info และแอพพลิเคชั่น SME CONNEXT

-----------------------------------------

ทิพย์วรรณ  เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว




SDG Hashtag :

Tag อื่นๆ :