ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประกาศเกียรติคุณและเชิดชูเกียรติ มูลนิธิอาจารย์เกษม ปังศรีวงศ์ รางวัลรัตโนบล ประจำปี 2566


โพสโดย ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร     โพสวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 ,     (อ่าน 364 ครั้ง)  


มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประกาศเกียรติคุณและเชิดชูเกียรติ

มูลนิธิอาจารย์เกษม  ปังศรีวงศ์

รางวัลรัตโนบล ประจำปี 2566

-------------------------------------

          มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีความยินดีประกาศเกียรติคุณเพื่อเชิดชูเกียรติ มูลนิธิอาจารย์เกษม  ปังศรีวงศ์ ที่ได้รับรางวัลรัตโนบล ประเภทนิติบุคคล/องค์กร โดย สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้พิจารณาอนุมัติรางวัลรัตโนบล ประจำปี พ.ศ. 2566 แก่บุคคลที่มีผลงานทางวิชาชีพที่มีคุณภาพอันเป็นที่ยอมรับของชุมชน สังคม ประเทศชาติอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ มีคุณงามความดีที่ได้รับการยกย่องในระดับชาติหรือนานาชาติ อุทิศตนเป็นประโยชน์ต่อสังคมหรือมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอและมีความประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่บุคคลทั่วไป โดยจะเข้ารับพระราชทานรางวัลรัตโนบล ประเภทนิติบุคคล/องค์กร ประจำปี พ.ศ. 2566 ในวันพฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

          อาจารย์เกษม  ปังศรีวงศ์ เป็นเภสัชกรที่มีบทบาทในวงการเภสัชกรรม ทั้งด้านวิชาการ ด้านอุตสาหกรรม และด้านสังคม ด้านวิชาการและวิชาชีพ ท่านเป็นเภสัชกรไทยคนแรกที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทเภสัชศาสตร์จากต่างประเทศ โดยจบจาก Philadelphia College of Pharmacy and Sciences (Master of Science in Pharmacy) อาจารย์เกษมได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาเภสัชศาสตร์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2479 ที่ แผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนั้นยังเป็นแค่การเรียนการสอนในระดับประกาศนียบัตร หลักสูตร 3 ปีเท่านั้น และปีต่อมา ศาสตราจารย์จำลอง  สุวคนธ์ ได้ทุนไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา อาจารย์เกษมจึงต้องสละเวลา และวางมือจากธุรกิจส่วนตัว เพื่อมาเป็นอาจารย์ประจำแผนก รวมทั้งสอนบางวิชาแทนด้วย อาจารย์เกษม ได้ร่วมกับคณาจารย์เภสัชศาสตร์หลายท่าน ผลักดันให้มีการขยายหลักสูตรวิชาเภสัชให้เป็น 4 ปี เมื่อเรียนจบจะได้รับปริญญาเภสัชกรรมศาสตร์บัณฑิต รวมทั้งขออนุมัติให้มีการสร้างอาคารเรียนเป็นของแผนกฯ เองโดยเฉพาะ และอยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับว่าท่านเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมสร้างรากฐานการจัดการเรียนการสอนนิสิตเภสัชศาสตร์

          ด้านอุตสาหกรรม ท่านได้ช่วยงานบิดาที่บริษัท บี.เอ็ล.ฮั้ว จัดระเบียบร้านขายยาให้ถูกต้องตามมาตรฐานสากล ทั้งที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายควบคุมการขายยาในขณะนั้น และในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ท่าน ได้ปรับปรุงพัฒนาโรงงาน ให้ผลิตยาออกจำหน่ายให้ประชาชนยามขาดแคลนยา อาจารย์เกษมได้เจรจาเป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย ของ บริษัท Merck Sharp & Dohme (MSD) แห่งสหรัฐอเมริกา ท่านจึงร่วมกับญาติๆ ตั้งบริษัท บี.เอ็ล.เอช เทร็ดดิ้ง จำกัด ขึ้น ท่านพาบริษัทก้าวขึ้นสู่แถวหน้าของประเทศไทยในเวลานั้นและต่อมาอีกหลายทศวรรษ ต่อมาท่านได้ชักชวนให้ MSD ร่วมลงทุนกับ บี.เอ็ล.เอช. เทร็ดดิ้ง  สร้างโรงงานเมอร์ค ชาร์พ แอนด์ โดห์ม (ประเทศไทย) ขึ้น ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชีย ที่บริษัทชั้นนำระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา มาลงทุนสร้างโรงงานผลิตยาระดับโลก

           ด้านสังคม ท่านเป็นกรรมการเภสัชกรรมสมาคมฯ กว่า 20 ปี และได้รับเลือกเป็นนายกเภสัชกรรมสมาคมฯ ในปี พ.ศ. 2489  อาจารย์เกษมและนายพิชัย รัตตกุล ได้ร่วมกันก่อตั้งสมาคมไทยผลิตยาแผนปัจจุบัน หรือ สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน(TPMA) โดยอาจารย์เกษมเป็นนายกสมาคมคนแรก และเป็นกรรมการกลางสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยฯ พ.ศ. 2494 -พ.ศ. 2519 และอุปนายก พ.ศ. 2503 - พ.ศ. 2507  ช่วยงานมูลนิธิวิจัยประสาทในพระบรมราชูปถัมภ์ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง โดยดำรงตำแหน่งกรรมการมูลนิธิมากกว่า 10 สมัย โดยผลแห่งความมุ่งมั่นในการพัฒนาวิชาชีพเภสัชกรรมเป็นระยะเวลายาวนาน ปี พ.ศ. 2497 อาจารย์เกษมได้รับพระราชทานปริญญาเภสัชศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

          มูลนิธิอาจารย์เกษม  ปังศรีวงศ์ ได้ก่อตั้งขึ้นเนื่องจาก นายธีระพงศ์  ปังศรีวงศ์ บุตรชายของอาจารย์เกษม ได้ตระหนักถึงความรัก ความผูกพัน และ ความภาคภูมิใจของอาจารย์เกษม  ปังศรีวงศ์ ที่มีต่อวิชาชีพเภสัชกรรม จึงต้องการสืบสานปณิธานต่อจากบิดา เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณงามความดีของอาจารย์เกษม  ปังศรีวงศ์ เพื่อพัฒนา และส่งเสริมให้วิชาชีพเภสัชกรได้เป็นกำลังสำคัญของบุคลากรทางการแพทย์ และสังคมไทย ในปี พ.ศ. 2559 จึงได้ตั้งมูลนิธิอาจารย์เกษม  ปังศรีวงศ์ขึ้น โดยมีทุนเริ่มต้น 100 ล้านบาท  มูลนิธิฯ มีการสนับสนุนทุนโครงการด้านเภสัชศาสตร์ โดยมอบทุนสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2560 จนถึงปัจจุบัน มากกว่า 300 ทุน/โครงการ เป็นเงินทั้งสิ้น 20,581,519 บาท (ยี่สิบล้านห้าแสนแปดหมื่นหนึ่งพันห้าร้อยสิบเก้าบาท) โดยมูลนิธิฯ ให้การสนับสนุนทุน/โครงการแก่ เภสัชกร และนิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์ทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาความรู้ ความก้าวหน้าด้านเภสัชศาสตร์ โดยมุ่งเน้นพัฒนาการศึกษาและอาชีพแก่เภสัชกรทุกสาขา ให้ทุนการศึกษาแก่นิสิตนักศึกษาที่เรียนดี และมีความประพฤติดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ทุนสนับสนุนในการวิจัย ทุนสนับสนุนการจัดประชุมวิชาการระดับประเทศ ทุนสนับสนุนการอบรมระยะสั้น ทุนสนับสนุนด้านอื่น ๆ ทางเภสัชศาสตร์ ฯลฯ โดยคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิฯ ทั้งในด้านทุนการศึกษาแก่นักศึกษา ทุนสนับสนุนการจัดประชุมวิชาการ  ทุนสนับสนุนการอบรมระยะสั้นให้แก่อาจารย์อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

          ด้วยผลงานอันโดดเด่นและปณิธานความมุ่งมั่นเป็นที่ประจักษ์ว่า มูลนิธิอาจารย์เกษม ปังศรีวงศ์ เป็นกำลังหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาความก้าวหน้าขององค์ความรู้ในสาขาวิชาเภสัชศาสตร์และพัฒนาวิชาชีพทางเภสัชกรรม ส่งเสริมให้เภสัชกรพัฒนาด้านวิชาชีพอันเป็นประโยชน์ต่อระบบสาธารณสุขและสร้างคุณค่าต่อประชาชนสังคมและประเทศชาติ  สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในการประชุมครั้งที่ 10/2566 (ลับ) เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 จึงอนุมัติรางวัลรัตโนบล แด่ มูลนิธิอาจารย์เกษม ปังศรีวงศ์ เพื่อเป็นการยกย่องและประกาศเกียรติคุณให้ปรากฏสืบไป

--------------------------------------

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2565



Search
ลิ้งค์ข่าวสาร