ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

ม.อุบลฯ นำชุดการแสดง สีดาเจ้าปราบนกหัสดีลิงค์ ร่วมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม สานสัมพันธ์มิตรภาพไทย-ลาว ครั้งที่ 17


โพสโดย เพลิน วิชัยวงศ์     โพสวันที่ 20 มกราคม 2567 ,     (อ่าน 185 ครั้ง)  


               มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปรีชา  บุญจูง  รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ นำบุคลากร และนักศึกษาจำนวน 20 คน เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรม งานสานสัมพันธ์มิตรภาพไทย-ลาว ครั้งที่ 17 "ฮักแฮง แพงหลาย สายใยสองฝั่งโขง"จัดโดย มหาวิทยาลัยนครพนม รับเกียรติจาก นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานเปิดงาน  และศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยนครพนม กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน จากสถาบันการศึกษา 5แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ สปป.ลาว  มหาวิทยาลัยสะหวันนะเขต สปป.ลาว  มหาวิทยาลัยพะเยา  มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยนครพนม ร่วมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ณ ลานหน้าพญาศรีสัตนาคราช ริมฝั่งโขง จ.นครพนม  เมื่อวันที่ 18 - 21 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา

             สำหรับ สถาบันการศึกษาที่นำชุดการแสดงร่วมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม จาก 5สถาบัน ได้แก่  มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ สปป.ลาว  ชุดการแสดง "มรดกแคนลาว"  มหาวิทยาลัยสะหวันนะเขต สปป.ลาว  ชุดการแสดง "เชิญเที่ยวสะหวันนะเขต ในวันบุญกองข้าวใหญ่ ไหว้พระธาตุอิงฮัง" มหาวิทยาลัยพะเยา ชุดการแสดง "นบไหว้สาพระธาตุเจ้า เจิญแอ่วพะเยาม่วนใจ๋"  มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ชุดการแสดง "สีดาเจ้าปราบนกหัสดีลิงค์" และมหาวิทยาลัยนครพนม ชุดการแสดง "ฟ้อนไทญ้อบูชาพระธาตุพนม รับเสด็จพ่อหลวง ร.9" และ ชุดการแสดง "ฮักแฮง แพงหลาย สายใยสองฝั่งโขง"  นอกจากนี้ยังมีวงดนตรี จากสาขาวิชาดนตรีศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม มาร่วมบรรเลงบทเพลงตลอดทั้งงาน

            ในส่วนของ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นำชุดการแสดง "สีดาเจ้าปราบนกหัสดีลิงค์" โดย นักศึกษาคณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ นำงานประเพณีจังหวัดอุบลราชธานี  มีความเกี่ยวข้องกับประเพณีหรือพิธีกรรมเผาศพบนนกหัสดีลิง การรับนกหัสดีลิง ตามตำนานนั้น การปราบนกหัสดีลิงมีเฉพาะเจ้านายแคว้นจำปาสักสืบทอดกันมาจนถึงเจ้านายเมืองอุบลราชธานี แต่ปัจจุบันพิธีนี้ใช้ในงานพระผู้ใหญ่ และผู้ที่มีสมณศักดิ์สูงด้วย ดูนกหัสดีลิงจะถูกฆ่าโดยผู้ที่สืบเชื้อสายจากนางสีดาเท่านั้น นางสีดาตามตำนานดังกล่าว ไม่ใช่พระมเหสีในเรื่องรามเกียรติ์ แต่เชื่อตามตำนานว่ามีอยู่จริง ซึ่งปัจจุบันนางสีดาที่สืบทอดพิธีกรรมนี้ สืบเชื้อสายจากอุบลราชธานี ที่ชาวอีสานเชื่อถือมากที่สุด 

          นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมโครงการที่ดี ซึ่งนอกจากนักศึกษาได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นของทั้ง 2 ประเทศ ผ่านการแสดงของ 5 สถาบัน ยังเป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างนักศึกษา อาจารย์ บุคลากร นำไปสู่การแลกเปลี่ยนด้านวิชาการ ตลอดจนความร่วมมือด้านต่างๆ ของมหาวิทยาลัยต่อไป 

                                                   เพลิน  วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว



Search
ลิ้งค์ข่าวสาร