ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

ม.อุบลฯเดินหน้ามหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง ยกระดับคุณภาพการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่น


โพสโดย เพลิน วิชัยวงศ์     โพสวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ,     (อ่าน 290 ครั้ง)  


            มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยกองบริการการศึกษา จัดกิจกรรม การอบรมเชิงปฏิบัติการการจัดการเรียนการสอน STEM Education โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่นโดยมีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นพี่เลี้ยงเครือข่ายอุดมศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประจำปี 2566 โดยมี ดร.อนุสรณ์ บันเทิง ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศทางการศึกษาเป็นประธานพิธีเปิด และ นางวิชชุดา  มงคล ผู้อำนวยการกองบริการการศึกษา กล่าวรายงาน มุ่งพัฒนาครู - ผู้เรียนให้มีคุณลักษณะและทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21ผ่านกิจกรรม STEM Education ด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ พยาบาล เภสัชศาสตร์ แพทยศาสตร์ และการสาธารณสุข และกิจกรรมอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งมีครูและนักเรียนโรงเรียนเครือข่าย 24 แห่ง จำนวน 120 คน เข้าร่วมโครงการ เมื่อวันที่ 14-15 ธันวาคม ที่ผ่านมา

         ดร.อนุสรณ์ บันเทิง ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศทางการศึกษากล่าวว่า ตามที่ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) มุ่งพัฒนาการศึกษาตามนโยบายรัฐบาล สนับสนุน ให้เครือข่ายอุดมศึกษาซึ่งมีสมาชิกกระจายทั่วทุกภูมิภาค นำองค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญทางวิชาการ และเทคโนโลยี ช่วยพัฒนาการเรียนการสอน ให้บริการทางวิชาการแก่ชุมชนและท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม มุ่งเน้นการพัฒนาโรงเรียนควบคู่กับการพัฒนาครู พัฒนาการเรียนรู้ผ่านระบบดิจิทัล ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พัฒนาทักษะอาชีพทุกช่วงวัย และส่งเสริมหลักคิดที่ถูกต้อง มุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกคนให้มีคุณลักษณะและทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีในฐานะรับผิดชอบการดำเนินโครงการ โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่น โดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง เครือข่ายอุดมศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ได้กำหนดกิจกรรมในการพัฒนาโรงเรียนเครือข่ายโดยครอบคลุมในประเด็นการพัฒนาตามกรอบของ สป.อว. เกิดแหล่งการเรียนรู้ในสถานศึกษา เพื่อให้การพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนเครือข่ายเป็นอย่างต่อเนื่องอันจะนำไปสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืนตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

            สำหรับกิจกรรรมการเรียนรู้ ครู-นักเรียน แบ่งเป็น STEM วิทยาศาสตร์ การทำสบู่น้ำมันธรรมชาติ STEM วิศวกรรมศาสตร์  วิศวกรรมหุ่นยนต์ robotics engineering  STEM ด้านเกษตรศาสตร์  การทำพืชคอนโด STEM ด้านศิลปกรรมและการออกแบบ แนวคิดการออกแบบศิลปะ ที่จับแก้ว STEM ด้านเภสัชศาสตร์ลูกประคบสมุนไพรไทย STEM ด้านแพทย์ศาสตร์และการสาธารณสุข การทำสเปรย์ไล่ยุงจากสมุนไพร  STEM ด้านพยาบาลศาสตร์ การทำแผล  นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการใช้ภาษาไทยในการนำเสนอ กิจกรรมการใช้ภาษาอังกฤษในการนำเสนอ กิจกรรมผลิตสื่อออนไลน์ กิจกรรมการเป็นพลเมืองโลก กิจกรกรรมผู้ประกอบการ และกิจกรรมถอดบทเรียน เป็นต้น  

           นับเป็นอีกหนึ่งโครงการ ในการสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงทำงานร่วมกับโรงเรียน ชุมชน และหน่วยงานในพื้นที่ในการนำองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และเทคโนโลยี ไปช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในท้องถิ่นให้เกิดความเข้มแข็งและพัฒนาท้องถิ่น ได้ตรงตามบริบทของชุมชน อีกทั้ง เพื่อเป็นการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนและสนับสนุนการสร้างสื่อการเรียนรู้แบบบูรณาการ STEM Education พัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนเครือข่ายเป็นอย่างต่อเนื่องอันจะนำไปสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืนตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ต่อไป

เพลิน  วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว



Search
ลิ้งค์ข่าวสาร