ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เยี่ยมชมแปลงงานวิจัย คณะเกษตรศาสตร์ ม.อุบลฯ พัฒนาข้าวเจ้าหอมสายพันธุ์ปรับปรุงรองรับสภาพแวดล้อมวิกฤต


โพสโดย เพลิน วิชัยวงศ์     โพสวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ,     (อ่าน 259 ครั้ง)  


            มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย ดร.นรินทร บุญพราหมณ์ คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ พร้อมคณะด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กาญจนา พยุหะ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ ให้การต้อนรับ ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์  นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และคณะ จำนวน 60 คน ในโอกาสเข้าเยี่ยมชมแปลงงานวิจัย และฟังการบรรยายพิเศษ เรื่อง การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวทนทานสภาพเครียดหลายลักษณะรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศวิกฤตเพื่อพื้นที่ปลูกข้าวอาศัยน้ำฝนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สุรีพร เกตุงาม หัวหน้านักวิจัย คณะเกษตรศาสตร์  ณ ห้องประชุมวรพงษ์ สุริยภัทร  พร้อมลงพื้นที่เยี่ยมชมแปลงงานวิจัย การพัฒนาข้าวเจ้าหอมสายพันธุ์ปรับปรุงรองรับสภาพแวดล้อมวิกฤต ณ แปลงทดลองพืชไร่ สำนักงานไร่ฝึกทดลอง คณะเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา

         รองศาสตราจารย์ ดร.สุรีพร เกตุงาม หัวหน้านักวิจัย กล่าวว่า คณะเกษศาสตร์ได้พัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่หลากหลายมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ งานวิจัยการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวเจ้าหอมพื้นนุ่ม ไม่ไวต่อช่วงแสงและทนทานต่อสภาพเครียดหลายลักษณะเพื่อพื้นที่ปลูกข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  แปลงขยายเมล็ดพันธุ์ข้าวเจ้าหอมวาริน แปลงทดลองการพัฒนาข้าวเจ้าหอมสายพันธุ์ปรับปรุงรองรับสภาพแวดล้อมวิกฤต   แปลงพันธุ์ข้าวเจ้าหอมวาริน ซึ่งมีคุณสมบัติที่โดดเด่น สามารถตอบโจทย์เกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสานได้เป็นอย่างดี มีการปรับปรุงสายพันธุ์ข้าว สามารถทนน้ำท่วมฉับพลัน ทนเเล้ง ต้านทานโรคไหม้ ให้ผลผลิตสูง ปรับตัวได้ดีในพื้นที่ปลูกข้าว อาศัยน้ำฝนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ข้าวสุกมีกลิ่นหอม และมีความนุ่มเหนียวคล้ายข้าวดอกมะลิ 105

           นับเป็นอีกหนึ่งพันธกิจของมหาวิทยาลัย ในด้านงานวิจัย สอดคล้องกับนโยบายสภามหาวิทยาลัย ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจ และนำงานวิจัย พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีแก่เกษตรกร ยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของชุมชนและสังคมตอบโจทย์สมาคมชาวนาและเกษตรไทย พันธุ์ข้าวที่ผลิตออกมาจะต้องทนต่อโรค ได้ผลผลิตสูงและใช้เวลาในการเพาะปลูกไม่นาน ให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนา และผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวออกมาให้สามารถแข่งขันได้

เพลิน  วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว



Search
ลิ้งค์ข่าวสาร