ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

สป.อว.ลงพื้นที่ ม.อุบลฯติดตามโครงการสถาบันอุดมศึกษาพี่เลี้ยง หนุนเครือข่าย15สถาบันอีสานตอนล่าง ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนท้องถิ่น


โพสโดย เพลิน วิชัยวงศ์     โพสวันที่ 4 สิงหาคม 2566 ,     (อ่าน 408 ครั้ง)  


           มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์  ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดี ให้การต้อนรับ นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ในโอกาสลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่น โดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง ประจำปี 2566เครือข่ายพัฒนาอุดมศึกษาภาคตะวันออกเฉียงตอนล่าง หรือ โครงการสถาบันอุดมศึกษาพี่เลี้ยง ซึ่งมี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นสถาบันอุดมศึกษาแม่ข่าย มีผู้บริหารตัวแทนสถาบันอุดมศึกษาในเครือข่าย จำนวน 15แห่ง เข้าร่วมนำเสนอผลการดำเนินงาน ณ โรงแรมยูเพลส มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐ์ ดิษเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ประธานเครือข่ายพัฒนาอุดมศึกษาภาคตะวันออกเฉียงตอนล่าง กล่าวว่า โครงการเริ่มดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 เป็นโครงการที่สนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาได้ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ทำงานร่วมกับโรงเรียน ชุมชนและหน่วยงานในพื้นที่ โดยนำความรู้และความเชี่ยวชาญทางวิชาการของบุคลากรและเทคโนโลยีที่ไปให้บริการทางวิชาการแก่ชุมชนท้องถิ่นได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อช่วยพัฒนาการเรียนการสอน ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา บูรณาการการจัดการศึกษาระหว่างสถาบันอุดมศึกษา โรงเรียนและชุมชน มุ่งเน้นกลุ่มเด็กด้อยโอกาส แก้ไขปัญหา การอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ การปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความจำเป็นและลักษณะผู้เรียนรวมทั้งบริบทพื้นที่ของสถานศึกษา และสร้างระบบโรงเรียนพี่เลี้ยงโดยโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพการศึกษาดีร่วมพัฒนาช่วยเหลือโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ ซึ่งมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน187 โรงเรียน แบ่งเป็นครู 2,173 คน นักเรียน 26,659 คน จัดกิจกรรมหลัก 4กิจกรรม ได้แก่ 1.กิจกรรมพัฒนาทักษะการอ่าน 2.กิจกรรมพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  3.กิจกรรมพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง และ 4.กิจกรรมพัฒนาแหล่งเรียนรู้ชุมชน  โดยได้รับความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาและหน่วยงานทุกภาคส่วนในพื้นที่เป็นอย่างดี พร้อมกันนี้ ได้มีการลงพื้นที่เยี่ยมชมผลการดำเนินงาน ณ โรงเรียนบ้านบุ่งหวาย อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินกิจกรรมของโรงเรียนอีกด้วย

             ด้าน นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี รก.ผอ.กองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ อาทิ การพัฒนาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานและพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างต่อเนื่อง การนำองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยไปช่วยแก้ไขปัญหาและยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานและหรือภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง การบูรณาการการทำงานร่วมกับโครงการ U2T เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่สอดคล้องกับบริบทเชิงท้องถิ่น รวมถึง เรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามเป้าหมาย SDG Goals เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงแหล่งทุนและทรัพยากรที่จำเป็นของชุมชนอย่างแท้จริง อันจะนำไปสู่การยกระดับการดำเนินโครงการและความยั่งยืนของโครงการต่อไป

เพลิน  วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว



Search
ลิ้งค์ข่าวสาร