ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

ม.อุบลฯ เตรียมพร้อมพัฒนากำลังคนสำหรับกลุ่มประเทศบิมสเทค ผ่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ BCG Economy


โพสโดย เพลิน วิชัยวงศ์     โพสวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 ,     (อ่าน 356 ครั้ง)  


            มหาวทยาลัยอุบลราชธานี โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชุตินันท์  ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการ เตรียมพร้อมการดำเนินงานโครงการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผ่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ BCG Economy สำหรับกลุ่มประเทศบิมสเทค ภายใต้โครงการความร่วมมือกับต่างประเทศ โครงการการเสริมสร้างศักยภาพและขับเคลื่อนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศระดับทวิภาคีและพหุภาคี ประจำปีงบประมาณ 2566 ตามที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.)ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคารสำนักงานอธิการบดี 2 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566

          โครงการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผ่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์และ BCG Economy สำหรับกลุ่มประเทศบิมสเทค มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล สำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (บิมสเทค) และสนับสนุนการเป็นประธานบิมสเทคของไทยให้กับข้าราชการ นักวิจัยจากสถาบันคลังสมอง (Think Tank) และผู้นำภาคประชาชนจาก 7 ประเทศสมาชิก  ตลอดจนเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างองค์ความรู้ ผ่านการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์และการศึกษาต้นแบบการยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีของไทย และยกระดับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางกำลังคนระดับสูง (Hub of Talent) และศูนย์กลางการเรียนรู้ (Hub of Knowledge) ของชาติบิมสเทค รวมไปถึงการนำเสนอต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตจากงานวิจัยและนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีไปยังนานาประเทศอีกด้วย

            ในส่วนของการฝึกอบรมระดับนานาชาตินั้น มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างที่ 6-10 กันยายน 2566 ณ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมีสมาชิกจากกลุ่มประเทศบิมสเทค 7 ประเทศเข้าร่วมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านโมเดลการพัฒนาที่สำคัญของมหาวิทยาลัย อาทิ หลักสูตรการยกระดับผลผลิตทางเกษตรด้วยนวัตกรรม และเศรษฐกิจ BCG Economy  โดยวิทยากรจากอุทยานวิทยาศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ และคณะบริหารศาสตร์ และ หลักสูตรการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วยโมเดลเขมราษฏร์ธานี โดยคณะนักวิจัย จากโครงการวิจัยฟื้นใจเมือง

              นับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่มีบทบาทสำคัญในความร่วมมือกับต่างประเทศ และยังสอดคล้องกับนโยบายสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ภาครัฐภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจ ทั้งในและต่างประเทศ มีความร่วมมือ แบ่งปัน เรียนรู้และทำงานร่วมกันในการจัดการศึกษาสร้างองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของชุมชนและสังคม

                                                           เพลิน  วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว



Search
ลิ้งค์ข่าวสาร