ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

ม.อุบลฯ โชว์...ผลงานมหกรรมนวัตกรรมการเลี้ยงจิ้งหรีด แหล่งโปรตีนและแหล่งรายได้ใหม่ในอนาคต ขับเคลื่อน 4 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจฐานชีวภาพ


โพสโดย ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร     โพสวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ,     (อ่าน 1,338 ครั้ง)  


 

ม.อุบลฯ โชว์...ผลงานมหกรรมนวัตกรรมการเลี้ยงจิ้งหรีด แหล่งโปรตีนและแหล่งรายได้ใหม่ในอนาคต

ขับเคลื่อน 4 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจฐานชีวภาพ

----------------------------------------

           เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม 2564 เนื่องในโอกาสพิเศษครบรอบ 31 ปี สถาปนามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีวันนี้ ทางมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สนับสนุนการจัดงาน “มหกรรมนวัตกรรมการเลี้ยงจิ้งหรีด แหล่งโปรตีนและแหล่งรายได้ใหม่ในอนาคต”ภายใต้โครงการการพัฒนาแมลงเป็นสัตว์เศรษฐกิจ และการพัฒนาโปรตีนทางเลือกจากแมลงเพื่อขับเคลื่อนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bio Economy) โดยมี นายสฤษดิ์  วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ให้เกียรติเยี่ยมชมนิทรรศการภายในงานและการออกบูธผลิตภัณฑ์จากจิ้งหรีด พร้อมทั้งพบปะพูดคุยกับนักวิจัยและเกษตรกรที่มาร่วมงาน เนื่องจากท่านติดภารกิจเร่งด่วน จึงมอบหมายให้ นายศุภศิษย์  กอเจริญยศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานเปิดงานและ รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต  ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์การจัดงานครั้งนี้ เพื่อสร้างมาตรฐานการเลี้ยงจิ้งหรีด เพื่อเป็นอาชีพใหม่ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ และเป็นแหล่งอาหารโปรตีนทางเลือกใหม่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในการสร้างอาชีพและแหล่งรายได้แหล่งใหม่แก่เกษตรกรในพื้นที่ รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มจากการเพาะเลี้ยงแมลง และผลักดันให้แมลงเป็นสัตว์เศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประชากรของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและผลักดันให้พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจฐานชีวภาพ จากการเพาะเลี้ยงและวิจัยแมลง สำหรับกิจกรรมภายในงานช่วงเช้าเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมนิทรรศการและการออกบูธผลงานของนักวิจัยและผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรเกี่ยวกับการเลี้ยงจิ้งหรีดและผลิตภัณฑ์ของเกษตรกร และการเสวนา หัวข้อ “การเลี้ยงจิ้งหรีด ยากหรือง่าย จากใจคนเลี้ยงจริง” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุทัย  อันพิมพ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และนักวิจัยฯ พร้อมตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีด ร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และอภิปรายระดมความคิดเห็นร่วมกันณ อาคารศาลาเรือนไทย ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี

          รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต  ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า การจัดงาน “มหกรรมนวัตกรรมการเลี้ยงจิ้งหรีด แหล่งโปรตีนและแหล่งรายได้ใหม่ในอนาคต” วันนี้ เป็นโอกาสที่ดีและพิเศษสุดเนื่องจากเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ครบรอบ 31 ปี แห่งการก่อตั้ง และมีมุ่งพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการของชุมชุน เพื่อเป็น “มหาวิทยาลัยในดวงใจของชุมชน” ในอนาคต มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีตระหนักถึงความจำเป็นอย่างยิ่งในการเป็นสวนหนึ่งของการพัฒนาประเทศเพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงมีการกำหนดทิศทางของงานวิจัยและบริการวิชาการให้สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ของชาติ เพื่อสร้างประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมแก่ชุมชนและสังคม ในการดำเนินงานเพื่อแก้ไขความยากจน และเพิ่มรายได้ของเกษตรกรในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วยการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับ “จิ้งหรีด” เพื่อใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาแหล่งโปรตีนจากแมลงในโครงการการบูรณาการความรู้สู่ชุมชน เพื่อพัฒนาอาชีพและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา โดยอาศัยคณะทำงานที่ประกอบด้วยคณะเกษตรศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ โดยในระยะเริ่มต้น มีกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดเป็นรายได้เสริมเข้าร่วมโครงการจำนวน 6 ราย กระจายในพื้นที่ จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี คิดบ่อเลี้ยงรวมจำนวน 20 บ่อ การดำเนินงานเริ่มจากการวางแผนจัดทำโครงการผ่านการระดมความคิดเห็นหาแนวทางและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกับกลุ่มเกษตรกรในการสร้างอาชีพ พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน แก้ไขปัญหาของชุมชน เสริมสร้างทักษะการเลี้ยงจิ้งหรีดและการแก้ปัญหาโรคระบาดและสุขลักษณะที่ดีในการเลี้ยง ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดในขณะนั้นมีรายได้เสริมครัวเรือนละประมาณ 5,000.- บาท/เดือน

          มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้ดำเนินโครงการการพัฒนาแมลงเป็นสัตว์เศรษฐกิจ และการพัฒนาโปรตีนทางเลือกจากแมลงเพื่อขับเคลื่อนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bio Economy) ดำเนินโครงการในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญและอุบลราชธานี และมีโครงการวิจัยย่อยภายใต้การดำเนินโครงการดังกล่าว 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการวิจัยย่อยที่ 1 โครงการจัดตั้งศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์โปรตีนจากแมลงในการเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกใหม่สำหรับการบริโภค เพื่อความเป็นเลิศและยั่งยืนโครงการวิจัยย่อยที่ 2 โครงการ การศึกษาสายพันธุ์จิ้งหรีด พัฒนามาตรฐานและกระบวนการเพาะเลี้ยงตลอดจนสร้างฐานข้อมูลสายพันธุ์จิ้งหรีดเพื่อรวบรวมประชากรจิ้งหรีดที่ให้โปรตีนสูง และโครงการวิจัยย่อยที่ 3 โครงการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งโครงการดังกล่าวมีแผนการดำเนินการต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 โดยมีผลการดำเนินงานเป็นที่พอใจอย่างยิ่ง เนื่องจากสามารถสร้างนวัตกรรมจิ้งหรีดแปรรูปต่าง ๆ เช่น โปรตีนสกัด เป็นต้น และยังสามารถพัฒนาสูตรอาหารเลี้ยงจิ้งหรีดโดยการใช้พืชในท้องถิ่นที่มีโปรตีนสูงทดแทนแหล่งโปรตีนจากปลาป่นซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่หายากและมีราคาแพงในการผลิตอาหารเพื่อให้ได้ปริมาณโปรตีนตามเกณฑ์ที่กำหนด และยังสามารถสร้างฟาร์มอัจฉริยะต้นแบบ (Smart Farm) สำหรับการเลี้ยงจิ้งหรีดและระบบการเลี้ยงจิ้งหรีดแบบมาตรฐาน GAPพร้อมถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดจำนวน 754 ราย และการจัดงานครั้งนี้ เป็นการนำผลงานการดำเนินงานบางส่วนมาจัดแสดงและเผยแพร่เพื่อสร้างการรับรู้และส่งเสริมให้การเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นที่แพร่หลายและเป็นอาชีพใหม่แก่เกษตรกรให้กว้างขวางขึ้นในอนาคต โดยการสนับสนุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ที่อยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และมีภารกิจในการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ทำให้งานวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์

------------------------------------------------

ทิพย์วรรณ  เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว



Search
ลิ้งค์ข่าวสาร