มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี : Ubon Ratchathani University
 นักศึกษา    บุคลากร    ศิษย์เก่า   UBU English       |      




ประกาศเรื่อง มาตรการป้องกันและเฝ้าระวังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 COVID-19 ระลอกใหม่ ฉบับที่ ๑๑ มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร COVID free Setting


โพสต์โดย : เทอดภูมิ ทองอินทร์     วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 , 12:57:51     (อ่าน 2,540 ครั้ง)  



ประกาศมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

เรื่อง มาตรการป้องกันและเฝ้าระวังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ระลอกใหม่ (ฉบับที่ ๑๑): มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (COVID free Setting)

____________

          ตามที่รัฐบาลได้ตราข้อกำหนด ฉบับที่ ๓๘ ออกตามความในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ โดยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด -19 เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการและกิจกรรมของบุคคลและสถานที่ต่าง ๆ โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขการปฏิบัติควบคุมและป้องกันโรค เพื่อรักษาสมดุลด้านความมั่นคง ปลอดภัยทางด้านสาธารณสุข กับการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศและฟื้นฟูความเป็นอยู่ของประชาชนให้ใกล้เคียงกับภาวะปกติ ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย ได้กำหนดมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (COVID free Setting) รองรับการผ่อนคลายมาตรการดังกล่าวของรัฐบาล

          ในการนี้ ศูนย์อนามัยที่ ๑๐ กรมอนามัย ร่วมกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้กำหนดมาตรการควบคุมและป้องกันโรคสำหรับสถาบันอุดมศึกษาตามมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (COVID free Setting) ดังนั้น เพื่อให้การป้องกัน เฝ้าระวัง และควบคุมโรคของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีสอดคล้องกับแนวทางดังกล่าว จึงออกประกาศกำหนดมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ ภายใต้มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (COVID free Setting) ดังนี้

          ข้อ ๑ ให้ยกเลิก

          (๑) ประกาศมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เรื่อง มาตรการป้องกันและเฝ้าระวังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ (ฉบับที่ ๒) : แนวทางการรับมือต่อสถานการณ์ในกรณีที่มีการยกระดับความรุนแรงของการระบาด ฉบับลงวันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔

          (๒) ประกาศมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เรื่อง มาตรการป้องกันและเฝ้าระวังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ (ฉบับที่ ๑๐) ลงวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

          ข้อ ๒ ขอความร่วมมือให้นักศึกษาและบุคลากรเข้ารับวัคซีน ณ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หรือโรงพยาบาลที่ใกล้เคียง และขอให้นักศึกษาและบุคลากรงดเดินทางไปยังพื้นที่ ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

 

มาตรการด้านการเรียนการสอน

 

          ข้อ ๓ ในภาคการศึกษาปลาย ปีการศึกษา ๒๕๖๔ ให้จัดการเรียนการสอนในที่ตั้ง แต่ต้องเว้นระยะห่างตามมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังโรคเพื่อลดความแออัด โดยมีจำนวนผู้เรียนไม่เกินร้อยละ ๖๐ ของความจุห้องเรียน หากมีผู้เรียนเกินจำนวนดังกล่าว ให้จัดการเรียนการสอนแบบผสมผสานหรือแบ่งกลุ่มการเข้าห้องเรียน ทั้งนี้ให้อยู่ในดุลพินิจของคณบดีเป็นผู้พิจารณากำหนด

          การดำเนินการจัดการเรียนการสอนข้างต้น ให้ปฏิบัติตามมาตรการ DMHT-RCโดยเคร่งครัด ได้แก่ D : Social Distancing เว้นระยะห่าง ๑-๒ เมตร เลี่ยงการอยู่ในที่แออัด M : Mask Wearing สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา H : Hand Washing ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ T : Testing การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย R : Reducing การลดการแออัด และ C: Cleaning การทำความสะอาด

          ข้อ ๔ การฝึกงาน การฝึกประสบการณ์วิชาชีพ หรือสหกิจศึกษาของนักศึกษา ให้หลีกเลี่ยงการไปยังจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ประกาศกำหนด ทั้งนี้ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณบดีเป็นผู้พิจารณาโดยให้คำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงและผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับสถานประกอบการ นักศึกษาและผู้ปกครอง ตลอดจนมาตรการควบคุมโรค เป็นสำคัญ ทั้งนี้ ก่อนออกฝึกงาน ฝึกประสบการณ์วิชาชีพ หรือสหกิจศึกษา ให้นักศึกษาเข้ารับวัคซีน ณ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

 

มาตรการด้านการปฏิบัติตนของนักศึกษาและบุคลากร

 

          ข้อ ๕ ให้โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ดำเนินการตรวจคัดกรองบุคลากรและนักศึกษาที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีนยังไม่ครบโดส ด้วยชุดตรวจหาเชื้อแบบ ATK ทุก ๑๕ วัน

          ข้อ ๖ บุคลากรที่มีความจำเป็นต้องเดินทางออกนอกเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีไปในจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้เสนอแบบขออนุญาตเดินทางข้ามเขตจังหวัดพร้อมแสดงเหตุผลและความจำเป็นต่ออธิการบดี ทั้งนี้หากบุคลากรต้องถูกกักตัวตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรค ให้ถือว่าวันที่ถูกกักตัวเป็นวันลากิจส่วนตัวในกรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติงานและป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อการบริหารราชการของมหาวิทยาลัย ซึ่งจำเป็นต้องให้บุคลากรที่กักตัวตามวรรคหนึ่งปฏิบัติงานนอกที่ตั้ง (Work From Home) ให้หน่วยงานต้นสังกัดพิจารณามอบหมายงานที่เหมาะสมกับสถานการณ์ และเสนอเรื่องต่ออธิการบดี เพื่อพิจารณาอนุมัติ

         ข้อ ๗ นักศึกษาและบุคลากรที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ให้รายงานตัวต่องานควบคุมโรค มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทางหมายเลขโทรศัพท์ ๐๔๕-๓๕๓๙๐๙ ต่อ ๗๐๔๘-๕๐ หรือผ่านทาง Official line งานควบคุมโรค รพ.ม.อุบลฯ ID Line : @935qxcsi เพื่อคัดกรองโรคทุกกรณี ทั้งนี้ ให้นักศึกษาและบุคลากรถือปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำแนะนำของเจ้าพนักงานควบคุมโรคโดยเคร่งครัด

 

มาตรการด้านการจัดกิจกรรมและอาคารสถานที่

 

          ข้อ ๘ การจัดกิจกรรมที่ไม่ใช่การจัดการเรียนการสอนทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยที่มีการรวมกลุ่ม ไม่เกิน ๑๐๐ คน ให้ทุกหน่วยงานสามารถดำเนินการได้ โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการ DMHT-RC เพื่อป้องการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่กระทรวงสาธารณสุข หรือทางราชการ หรือมหาวิทยาลัยกำหนดโดยเคร่งครัด ทั้งนี้ หากมีจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมเกิน ๑๐๐ คน ให้หน่วยงานที่จัดกิจกรรม เสนอเรื่องต่ออธิการบดีเพื่อพิจารณาอนุญาต

          ข้อ ๙ ให้คณะ วิทยาลัย สำนัก หรือหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยที่มีจุดบริการน้ำดื่ม ดำเนินการตรวจคุณลักษณะทางกายภาพ สี กลิ่น และสิ่งเจือปนในจุดบริการน้ำดื่มภายในอาคารนั้น ๆ ให้ได้คุณภาพตามที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด โดยดำเนินการอย่างน้อยเดือนละ ๒ ครั้ง

          ข้อ ๑๐ ให้ทุกหน่วยงานในมหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการ ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านเช่าภายในมหาวิทยาลัย ดำเนินการให้มีมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดของโรค ดังนี้

          (๑) จัดจุดคัดกรองวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้าอาคาร

          (๒) จัดให้มีการเข้าออกอาคารทางเดียว และอนุญาตให้เฉพาะผู้ที่สวมหน้ากากเข้าอาคารเท่านั้น

          (๓) จัดให้มีการลงทะเบียนเข้าออกพื้นที่อาคาร

          (๔) จัดให้มีเจลล้างมือในจุดที่มีการใช้งานร่วมกัน

          (๕) จัดให้มีการทำความสะอาดพื้นผิวห้องสุขาและสุขภัณฑ์อย่างสม่ำเสมอ

          (๖) จัดการขยะโดยการคัดแยกขยะแต่ละประเภทตามมาตรฐานด้านการจัดการขยะ

          (๗) จัดให้มีจุดส่งอาหาร เครื่องดื่ม หรือส่งสินค้าเป็นการเฉพาะ

          (๘) จำกัดจำนวนคนเข้าใช้บริการในแต่ละช่วงเวลา และการรักษาระยะห่างทางสังคม เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อ

          (๙) ในกรณีมีการใช้เครื่องปรับอากาศในอาคาร ให้เปิดหน้าต่างหรือช่องลมเพื่อระบายอากาศ ก่อนเปิดหรือปิดเครื่องปรับอากาศล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๑ ชั่วโมง

          (๑๐) จัดให้มีมาตรการ DMHT-RC โดยเคร่งครัด ได้แก่ D : Social Distancing เว้นระยะห่าง ๑-๒ เมตร เลี่ยงการอยู่ในที่แออัด M : Mask Wearing สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา H : Hand Washing ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์  T : Testing การตรวจวัดอุณหภูมิและตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในกรณีที่มีอาการเข้าข่าย R : Reducingการลดการแออัด และ C: Cleaning การทำความสะอาด

          ข้อ ๑๑ ในการจัดตลาดสด หรือตลาดนัดภายในมหาวิทยาลัย ให้ดำเนินการภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมโรคตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนด ประกาศ คำสั่งของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี

         ข้อ ๑๒ ในกรณีที่คณะ วิทยาลัย สำนัก หรือหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยหน่วยงานใดได้รับรายงานว่า มีผู้ติดเชื้อหรือมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเข้าใช้พื้นที่ภายในอาคาร ให้ปิดพื้นที่ที่เกี่ยวข้องดังกล่าวเป็นระยะเวลาอย่างน้อย ๑ วัน เพื่อฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ และทำความสะอาดตามมาตรฐานทางสาธารณสุข และให้งดการเข้าใช้พื้นที่ดังกล่าว ตลอดจนการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในระหว่างปิดทำการ และให้หน่วยงานนั้น แจ้งไปยังโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเพื่อดำเนินการสอบสวนโรค และแจ้งไปยังสำนักบริหารกายภาพและสิ่งแวดล้อมเพื่อฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโดยเร็ว

สำหรับบุคลากรที่ปฏิบัติงานในอาคารหรือพื้นที่ที่ปิดทำการ ให้รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการสำนัก หรือหัวหน้าหน่วยงานนั้น ๆ พิจารณากำหนดรูปแบบการทำงานและมอบหมายงานในวันที่ปิดทำการตามที่กำหนดในวรรคหนึ่งให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยให้คำนึงถึงประสิทธิภาพและความต่อเนื่องในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเป็นสำคัญ

          ข้อ ๑๓ ให้นักศึกษาและบุคลากร ปฏิบัติตามมาตรการและแนวทางในการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามประกาศ ข้อกำหนด หรือคำสั่งของนายกรัฐมนตรีหรือคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ที่ออกตามความในพระราชกำหนดการบริหารราชการ
ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ หรือตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ หรือของทางราชการที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด ตลอดจนตระหนักและคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมในการป้องกันและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรค

          การปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ประกาศ หรือคำสั่งดังกล่าวข้างต้นถือเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาวินัยของเจ้าหน้าที่รัฐ และนักศึกษา ทั้งนี้ให้ผู้บังคับบัญชาหรือคณบดี กำชับ ติดตามดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ประกาศ หรือคำสั่งโดยเคร่งครัด

 

 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่  ๑  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๖๔  เป็นต้นไป จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง

ประกาศ  ณ  วันที่   ๓๐  พฤศจิกายน พ.ศ.  ๒๕๖๔

 

(ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา)

      อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี



ไฟล์แนบ : ไฟล์ 1


SDG Hashtag :

Tag อื่นๆ :