มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี : Ubon Ratchathani University
 นักศึกษา    บุคลากร    ศิษย์เก่า   UBU English      




ม.อุบลฯ จัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่น


โพสต์โดย : เทอดภูมิ ทองอินทร์     วันที่ 22 เมษายน 2565 , 15:39:18     (อ่าน 936 ครั้ง)  



          เมื่อวันที่ 20-21เมษายน พ.ศ. 2565 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในนามประธานเครือข่ายประเด็น C นำโดย รองศาสตราจารย์อริยาภรณ์ พงษ์รัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ จัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่น โดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ระหว่างผู้แทนจากสถาบันอุดมศึกษา17 สถาบันและโรงเรียนเครือข่ายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ผ่านโปรแกรม Zoom Meeting

          โดย สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มอบหมายให้สถาบันอุดมศึกษา โดยมีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ประธานเครือข่ายประเด็น C) เป็นแม่ข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ดังนี้ 1.มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(แม่ข่าย) 2.มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี 3.มหาวิทยาลุยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน 4.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 5.มหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ 6.มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ 7.มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา 8.มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล 9.วิทยาลัยเทคโนโลยีพนมวันท์ 10.มหาวิทยาลัยราชภัฎชัยภูมิ 11.มหาวิทยาลัยราชธานี 12.มหาวิทยาลัยการจัดการและเทคโนโลยีอีสเทิร์น 13.วิทยาลัยนครราชสีมา 14.วิทยาลัยชุมชนบุรีรัมย์ 15.วิทยาลัยชุมชนยโสธร 16.มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ 17.มหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนา ดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่น โดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่นำองค์ความรู้ทางวิชาการและความเชี่ยวชาญของบุคลากรมาพัฒนาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานร่วมกับสถานศึกษาในท้องถิ่น ในรูปแบบของการจัดกิจกรรม การให้ความรู้ การฝึกอบรม การฝึกปฏิบัติและการวิจัยภายใต้เจตนารมณ์ที่สอดคล้องกันระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันอุดมศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ซึ่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(แม่ข่าย) และได้ดำเนินโครงการต่อเนื่องจากปี พ.ศ.2559 ถึงปัจจุบัน นั้น

 

          โดยมีกลุ่มโรงเรียนเป้าหมายโครงการมีจำนวน 203 โรงเรียน แบ่งเป็นครู จำนวน 4,187 คน และนักเรียนจำนวน 55,048 คน โดยการนำองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และเทคโนโลยีไปช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในท้องถิ่นให้เกิดความเข้มแข็ง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้จัดทำความร่วมมือกับโรงเรียนเครือข่ายทางวิชาการ ซึ่งเป็นโรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมในจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อพัฒนาทางด้านวิชาการแก่ครูและนักเรียนในโรงเรียนเครือข่ายในหัวข้อต่างๆ อาทิ เช่น การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ STEM Education เพื่อการประยุกต์ใช้การจัดการเรียนการสอน การจัดกิจกรรมฐานการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 การพัฒนาศักยภาพครูโดยการพัฒนาการสอนแบบ Active Learningโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรม โดยสร้างความตระหนักรู้ทางจริยธรรมต่อผลกระทบของการทุจริตคอรัปชั่นแก่นักเรียนโรงเรียนเครือข่าย นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ยังได้ดำเนินกิจกรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ และการจัดหาฐานข้อมูลเพื่อการเรียนรู้ต่างๆ ที่สำคัญต่อการเรียนการสอนของครูและนักเรียน ซึ่งจากผลการดำเนินการที่ผ่านมา พบว่า ได้รับความสนใจและความร่วมมือจากผู้บริหารของโรงเรียน ครู และนักเรียน เป็นอย่างดี

          มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีดำเนินกิจกรรมกับโรงเรียนเครือข่ายมาอย่างต่อเนื่องโดยการลงพื้นที่จัดอบรมเชิงปฏิบัติการโดยการบูรณาการ STEM Education เพื่อการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์และด้านเกษตรศาสตร์ โดยเน้นการนำความรู้ไปใช้แก้ปัญหาในกิจกรรมแต่ละด้าน สร้างรูปแบบกิจกรรมให้นักเรียนฝึกแก้ปัญหา กระตุ้นให้นักเรียนสนใจการประยุกต์เทคโนโลยีผ่านกระบวนการ STEM Education การประดิษฐ์อุปกรณ์อย่างง่าย ฝึกปฏิบัติการจับใจความ การสรุปความ การพูด การใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร นักเรียนสามารถผลิตสื่อเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และนำเสนอผลงานได้ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และนำเสนอผลงานเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อันจะนำไปสู่การพัฒนายกระดับการศึกษาของโรงเรียนเครือข่าย

           ด้านการพัฒนาครูสู่ผู้เรียนเน้นการพัฒนาครู เพื่อให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะในการพัฒนาผู้เรียนให้มีศักยภาพด้านวิชาการ ทักษะวิชาชีพ ทักษะชีวิตและด้านคุณธรรมและจริยธรรม จัดกิจกรรมเพื่อแก้ปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ของเด็กไทย พัฒนารูปแบบการเรียนการสอน เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เปิดโอกาสให้นักเรียนได้คิดค้นและเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา หรือพัฒนาตนเอง ครอบครัว โรงเรียนและชุมชน พัฒนารูปแบบการเรียนการสอนภายหลังสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เพื่อเปิดโอกาสให้โรงเรียนได้พัฒนาแนวทางและสื่อการเรียนการสอนเพื่อลดช่องว่างทางการศึกษาในช่วงระหว่าง/หลังสถานการณ์ เช่น กิจกรรมการผลิตและใช้สื่อเทคโนโลยีและสารสนเทศ (IT) เพื่อการเรียนการสอน รวมถึงการจัดกิจกรรมพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในชุมชนโดยความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาและหน่วยงานทุกภาคส่วนในพื้นที่ โดยบูรณาการองค์ความรู้ด้านวิชาการ วิชาชีพและทักษะชีวิต เพื่อสร้างรายได้สร้างอาชีพ และยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนให้เข้มแข็งและยั่งยืนสืบไป




SDG Hashtag :

Tag อื่นๆ :