มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี : Ubon Ratchathani University
 นักศึกษา    บุคลากร    ศิษย์เก่า   UBU English      




ทีมวิจัย ม.อุบลฯ ขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม พื้นที่อีสานตอนล่าง 2 ประจำปีงบประมาณ 2563 ลงพื้นที่พัฒนาระบบการเลี้ยงปลาไหลเชิงพาณิชย์เพื่อชุมชน ณ จังหวัดสุรินทร์


โพสต์โดย : ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร     วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 , 23:22:25     (อ่าน 1,386 ครั้ง)  



ทีมวิจัย ม.อุบลฯ ขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม พื้นที่อีสานตอนล่าง 2 ประจำปีงบประมาณ 2563

ลงพื้นที่พัฒนาระบบการเลี้ยงปลาไหลเชิงพาณิชย์เพื่อชุมชน ณ จังหวัดสุรินทร์

--------------------------------------------

          เมื่อวันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน 2563 โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ส่งนักวิจัยลงพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยที่ได้รับการพิจารณา และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม ประจำพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 ประจำปีงบประมาณ 2563 ในการจัดทำโครงการ “พัฒนาระบบการเลี้ยงปลาไหลเชิงพาณิชย์เพื่อชุมชน” ณ พื้นที่หมู่บ้านโคกโต่ง หมู่บ้านโคกกลาง หมู่บ้านทัพค่าย ตำบลศรีณรงค์ อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ โดยมี ดร.สมปอง  เวฬุวนาธร และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์  วีรยุทธ ผู้วิจัย  นายนิธิพัฒน์  ฤทธิรณ ผู้ประกอบการ พร้อมทีมวิจัยลงพื้นที่เพื่อศึกษากระบวนการพัฒนารูปแบบการเลี้ยงปลาไหล และใช้ระบบเทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์ม โดยใช้การวิจัยเชิงคุณภาพ  (Qualitative Research) ในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ถอดบทเรียนการพัฒนา การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยใช้กระบวนการภูมิปัญญา และเทคโนโลยี ตลอดจนการเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของปลาไหล เพื่อพัฒนารูปแบบการเลี้ยงปลาไหลของเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมาย ให้มีผลตอบแทนเชิงเศรษฐกิจที่เลี้ยงครอบครัวได้ สามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข โดยใช้ประสบการณ์ ภูมิปัญญา เทคโนโลยี และการเรียนรู้ด้วยตนเองจากการทดลอง สังเกตติดตามตรวจสอบปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นการเรียนและพัฒนาด้วยการปฏิบัติจริง เป็นแบบชี้นำตนเอง มีการคิดวิเคราะห์พัฒนารูปแบบวิธีการจัดการด้วยตนเองจนได้รูปแบบของการเลี้ยงที่สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติของพื้นที่

          ดร.สมปอง  เวฬุวนาธร รองหัวหน้าภาควิชาคณิตศาสตร์ สถิติ และคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า สำหรับโครงการพัฒนาระบบการเลี้ยงปลาไหลเชิงพาณิชย์เพื่อชุมชน เป็นการบริหารจัดการให้เกิดอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงปลาไหลอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงแนวทางการเลี้ยงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูง ซึ่งในปัจจุบันได้มีการนำเอานวัตกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบสมาร์ทฟาร์ม การบริหารจัดการสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมแก่การเจริญเติบโต และการใช้ระบบน้ำหมุนเวียนในการเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นการสร้างโมเดลจําลองโรงเรือนเลี้ยงปลาไหล มีการควบคุมภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของปลา โดยเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิ, เซ็นเซอร์วัดความเป็นกรด-ด่าง, เซ็นเซอร์วัดระดับความสูงของน้ำ, เซ็นเซอร์วัดคุณภาพของน้ำ และอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อ (Solid State Relay) ระหว่างภาคควบคุมซึ่งเป็นส่วนวงจรอิเล็กทรอนิกส์ กับวงจรภาคไฟฟ้ากำลัง มีการพัฒนาใช้ท่ออ่อนเพื่อดูดน้ำเสียและปล่อยน้ำดีใส่ลงในท่อสแตนเลส/PVC ติดตั้งในบ่อเลี้ยง เนื่องจากเกษตรกรประสบปัญหาตะกอนของเสียจํานวนมากตกค้างในบ่อเลี้ยงหลังจากเปลี่ยนน้ำและสูญเสียน้ำระหว่างการเปลี่ยนถ่ายน้ำเป็นปริมาณมากอีกทั้งการเปลี่ยนถ่ายน้ำอาจทำให้ปลาช้ำป่วย และตายได้ ซึ่งระบบนี้สามารถเปลี่ยนถ่ายน้ำได้รวดเร็ว พร้อมกันทีละหลาย ๆ บ่อ ซึ่งจะเป็นการใช้เทคนิคการดูดน้ำออกโดยใช้แรงดันต่ำและปล่อยน้ำใหม่เข้าด้วยระบบได้อย่างรวดเร็ว

-------------------------------------------------

ทิพย์วรรณ  เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว




SDG Hashtag :

Tag อื่นๆ :