มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี : Ubon Ratchathani University
 นักศึกษา    บุคลากร    ศิษย์เก่า   UBU English      




ม.อุบลฯ ต้อนรับ ผู้ช่วยรัฐมนตรี และที่ปรึกษารัฐมนตรี พร้อมคณะผู้บริหาร อว. ลงพื้นที่ปล่อยขบวน น.ศ. มอบ. จิตอาสาช่วยฟื้นฟูผู้ประสบภัยหลังน้ำท่วม และมอบเครื่องกรองน้ำ มุ้งกันยุง


โพสต์โดย : ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร     วันที่ 7 ตุลาคม 2562 , 21:11:18     (อ่าน 1,679 ครั้ง)  



ม.อุบลฯ ต้อนรับ ผู้ช่วยรัฐมนตรี และที่ปรึกษารัฐมนตรี พร้อมคณะผู้บริหาร อว. ลงพื้นที่ปล่อยขบวน

น.ศ. มอบ. จิตอาสาช่วยฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำท่วม และมอบเครื่องกรองน้ำ มุ้งกันยุง สเปรย์ฉีดกันยุง

พร้อมฟังบรรยายสรุป ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  

--------------------------------------

          เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม 2562 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์  ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พร้อมคณะผู้บริหาร บุคลากร และนักศึกษาจิตอาสามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (มอบ.) ร่วมต้อนรับ นายจำลอง  พรมสวัสดิ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรี นายองอาจ  ปัญญาชาติรักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรี และคณะผู้บริหารกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับนักศึกษาจิตอาสามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และร่วมการ Kick Off ปล่อยขบวนนักศึกษาจิตอาสาช่วยฟื้นฟูน้ำท่วม ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  และร่วมพิธีมอบเครื่องกรองน้ำ มุ้งกันยุง และสเปรย์ฉีดกันยุง ผ่านศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อนำไปส่งต่อให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมหลังน้ำลดเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดใกล้เคียง จากนั้นเป็นรับฟังการบรรยายสรุปการดำเนินงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วม และแผนการดำเนินงานเพื่อฟื้นฟูผู้ประสบภัยหลังน้ำลดจากทาง ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ณ โรงแรมยูเพลส มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์  ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวต้อนรับ ผู้ช่วยรัฐมนตรี และที่ปรึกษารัฐมนตรี พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ให้เกียรติลงพื้นที่มอบสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยผ่าน ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อส่งต่อไปยังผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วม และร่วมกิจกรรม Kick Off ปล่อยขบวนนักศึกษาจิตอาสาช่วยฟื้นฟูน้ำท่วม และทำความสะอาดร่วมกับชาวบ้านจิตอาสาในเขตพื้นที่ชุมชนโดยรอบโรงเรียนบ้านหาดสวนยา ชุมชนหาดสวนยา ในเขตเทศบาลเมืองวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี และมอบสิ่งของอุปโภคบริโภคให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วม พร้อมทั้งให้กำลังใจทีมงาน ตลอดจนคณะผู้บริหาร บุคลากร และนักศึกษาจิตอาสามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีในการปฏิบัติหน้าที่และเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วม และฟื้นฟูหลังน้ำลดต่อไป

            ดร.ปิยณัฐ  สร้อยคำ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และที่ปรึกษา ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บรรยายสรุปภาพรวม และรายงานผลการดำเนินงานผ่าน ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นำทีมโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์  ประสิทธิ์ภูริปรีชา ได้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เพื่อเป็นศูนย์กลางในการวางแผน ประสานความร่วมมือและปฏิบัติงานเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียง แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ ความช่วยเหลือฉุกเฉินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ระยะที่ ความช่วยเหลือหลังน้ำลด และระยะที่ 3 การรวบรวมข้อมูล องค์ความรู้และแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันภัยธรรมชาติในอนาคต สำหรับการดำเนินงานข้างต้น ทางมหาวิทยาลัยตั้งหน่วยรองรับ 4 ภารกิจเพื่อตอบสนองภาวะฉุกเฉินช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที เริ่มต้นจากหน่วยรับแจ้งขอความช่วยเหลือ จะรับข้อมูลจากผู้ประสบภัยประมวลผลในแต่ละวัน จากนั้นหน่วยวิเคราะห์ข้อมูลความต้องการของแต่ละจุดส่งข้อมูลให้หน่วยทรัพยากรและสิ่งสนับสนุน บุคลากร และนักศึกษาจิตอาสาจะระดมกำลังพลบรรจุถุงยังชีพ ขนย้าย และนำส่งไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยจะประสานงานร่วมกับหน่วยงานระดับจังหวัด และระดับประเทศเพื่อบริหารทรัพยากรและให้ความช่วยเหลือร่วมกัน

            ในการปฏิบัติงานของศูนย์ฯ ตั้งอยู่บนฐานแนวคิดที่สำคัญดังนี้ ประการที่ บูรณาการการทำงานอย่างเป็นระบบด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเป็นฐานข้อมูลกลางในการดำเนินงานและรวบรวมข้อมูลที่สำคัญ ประการที่ ผสานความร่วมมือจากทุกสาขาวิชาเพื่อนำความรู้จากห้องเรียนและงานวิจัยไปรับใช้สังคมเมื่อวิกฤติอุทกภัยทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หลักสูตร/คณะและวิทยาลัยภายใต้สังกัดมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีต่างระดมองค์ความรู้เพื่อผลิตนวัตกรรมและลงพื้นที่เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนร่วมกัน ประการที่ ความช่วยเหลือที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมโดยทุกความช่วยเหลือของมหาวิทยาลัยจะตั้งอยู่บนฐานคิดในการอนุรักษ์พลังงาน รักษาสิ่งแวดล้อม และมุ่งสร้างความยั่งยืนให้แก่สังคม ประการที่ สร้างการมีส่วนร่วมและจิตอาสาของนักศึกษาและบุคลากรอันเป็นลักษณะของพลเมืองที่พึงประสงค์นักศึกษาและบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยร่วมเป็นส่วนหนึ่งของช่วยเหลือสังคมตามความถนัด ผ่านภารกิจหลายรูปแบบ ทั้งนี้ผลการดำเนินงานในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้รับเงินบริจาคจากประชาชนและภาคส่วนต่างๆ เป็นเงินจำนวน 2,708,749.47 บาทผ่านบัญชี “ม.อุบลฯ ทำดีด้วยหัวใจ” นอกจากนี้ยังมีภาคีหน่วยงานร่วมสมทบทุน อาทิ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จำนวน 300,000 บาท สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จำนวน 291,000 บาท บริษัท MK Restaurant Groupจำนวน 150,000 บาท เป็นต้น รายละเอียดผู้สนับสนุนอื่นๆ จะนำเสนอในรายงานการดำเนินงานของศูนย์ฯฉบับสมบูรณ์ต่อไป

            อนึ่ง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีให้ความสำคัญกับภารกิจหลังน้ำลด โดยมีแผนปฏิบัติงานที่สำคัญอันประกอบไปด้วย

          1. การช่วยเหลือด้านฟื้นฟูสุขภาพและด้านสาธารณสุข ประกอบด้วย การลงพื้นที่ช่วยตรวจคัดกรองผู้ป่วย การรักษาบรรเทาอาการเบื้องต้น การเยียวยาจิตใจและรักษาสุขภาพจิตของผู้ประสบภัย การจัดเตรียมและบริการยาสามัญประจำบ้านในส่วนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพที่เป็นผลกระทบจากน้ำท่วม การจัดเตรียมและส่งมอบผลิตภัณฑ์จากนวัตกรรม เช่น โลชั่นกันยุง ครีมแก้โรคน้ำกัดเท้า รวมไปถึงน้ำยาล้างจาน น้ำยาล้างคราบเพื่อทำความสะอาดบ้านเรือน

          2. การซ่อมแซม ฟื้นฟูสถานที่สาธารณะ สาธารณูปโภค และสภาพแวดล้อม ประกอบด้วย การสำรวจและสนับสนุนการซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนประชาชนและสถานที่สาธารณะ การซ่อมแซมระบบสาธารณูปโภคในชุมชน การระดมจิตอาสาเพื่อทำความสะอาดชุมชนที่ได้รับผลกระทบ การนำนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยบูรณะ เช่น เครื่องพ่นไล่ยุง เครื่องวัดไฟฟ้ารั่ว เครื่องผลิตโอโซนต้นแบบ และเครื่องกรองน้ำเป็นต้น ทั้งนี้ในการดำเนินงานข้างต้น คณะ/วิทยาลัย รวมไปถึงสโมสรนักศึกษาและชมรมต่างๆของมหาวิทยาลัยจะร่วมภารกิจดังกล่าว

          3. การช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูสภาพทางเศรษฐกิจและการประกอบอาชีพ ประกอบด้วย การฝึกอบรมทักษะอาชีพแบบระยะสั้น การให้ความรู้เบื้องต้นในการประสานหน่วยงานราชการในประเด็นสวัสดิการจากภาครัฐ และการแจกจ่ายเมล็ดพันธ์พืช ต้นกล้า รวมไปถึงความรู้ด้านปศุสัตว์เพื่อสร้างอาชีพหลังน้ำลดต่อไป

           และเพื่อให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในดวงใจของชุมชน เมื่อยามบ้านของเราเผชิญวิกฤต มหาวิทยาลัยจึงผสานองค์ความรู้ ทรัพยากร และสรรพกำลังเพื่ออยู่เคียงข้างประชาชน ศักยภาพ และผลงานที่สั่งสมมาตลอดระยะเวลา 30 ปีของการสถาปนามหาวิทยาลัย สะท้อนออกมาในรูปแบบของกิจกรรม ระบบความช่วยเหลือ และเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม และสาธารณชนโดยทั่วกัน

             ท่านสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่...เว็บไซต์ข้อมูลการดำเนินงาน www.wmis.ubu.ac.th แฟนเพจ Facebook UBUSaveUbon สรุปกิจกรรมของมหาวิทยาลัย https://web.facebook.com/UBUSAVEUBON-102481931147399/ เว็บไซต์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี http://www.ubu.ac.th/new2018/

----------------------------------------------

ทิพย์วรรณ  เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว




SDG Hashtag :

Tag อื่นๆ :