มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี : Ubon Ratchathani University
 นักศึกษา    บุคลากร    ศิษย์เก่า   UBU English      




ม.อุบลฯ ทำโรงเพาะเห็ดมือถือ ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม หลังน้ำลด


โพสต์โดย : เพลิน วิชัยวงศ์     วันที่ 25 กันยายน 2562 , 10:09:36     (อ่าน 1,664 ครั้ง)  



              คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คิดค้นนวัตกรรมโรงเพาะเห็ดมือถือ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ในการเพาะเห็ดอินทรีย์รับประทานเอง เตรียมพร้อมนำมอบแก่ผู้ประสบภัยหลังน้ำลด โดย นักศึกษาจิตอาสาได้เตรียมก้อนเชื้อเห็ด และทำโรงเพาะเห็ดมือถือ สามารถเคลื่อนย้ายได้ ณ บริเวณชั้นล่างอาคารชีวภาพ  หลังเพาะเชื้อ 1 เดือน เห็ดออกดอกทุกวัน เหลือรับประทาน สามารถนำจำหน่ายสร้างรายได้เสริมแก่ครอบครัวได้อีกด้วย

             ดร.พิชญาภรณ์ สุวรรณกูฏ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ เปิดเผยว่า ภายหลังจากจังหวัดอุบลราชธานี ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหนักหลายพื้นที่ โดย จิตอาสาคณะวิทยาศาสตร์ ได้ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ แจกถุงยังชีพ มาโดยตลอด และทำการสำรวจความต้องการชาวบ้านผู้ประสบภัย พบว่าหลังน้ำลด ต้องการทุกภาคส่วนให้ความช่วยเหลือ ทั้งด้าน การซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ด้านสุขอนามัย และสิ่งแวดล้อม การเพาะปลูกพืชผักสวนครัว  การสร้างอาชีพแก่ครอบครัว และการฟื้นฟูสภาพจิตใจเป็นค้น ทั้งนี้ คณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ จึงมองเห็นความสำคัญในการเพาะเห็นอินทรีย์ปลอดสารพิษสำหรับรับทานเองในครัวเรือน จึงคิดโมเดล โรงเพาะเห็ดมือถือ ขึ้น เพื่อนำช่วยเหลือผู้ประสบภัยหลังน้ำลด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟู ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สุขภาพกายและใจดีขึ้นตามลำดับ

               สำหรับ โรงเพาะเห็ดมือถือ เป็นนวัตกรรมที่คิดค้นแบบง่ายๆ เหมาะกับการเพาะปลูกในครัวเรือน ใช้พื้นที่น้อย สามารถเคลื่อนย้ายได้ตามความเหมาะสม ขนาดโรงเรือน  50 X 60 เซนติเมตร วัสดุหาได้ง่าย โครงสร้างท่อ PVC คลุมด้วยผ้าใบ หนึ่งโรงสามารถบรรจุเห็ดได้ประมาณ 20 ก้อน  ส่วนผสมก้อนเชื้อเห็ด ประกอบด้วย ขี้เลื่อย รำละเอียด ปูนขาว ดีเกลือ และหัวเชื้อเห็ด เป็นต้น ใช้เวลาในการบ่มเพาะเชื้อเห็ดอยู่ประมาณ 1 เดือน สามารถเปิดโรงเรือนเก็บดอกเห็ดรับประทานได้ ซึ่งเห็ดออกดอกนานกว่า 6 เดือน ผู้สนใจทำเองในครัวเรือนงบประมาณไม่เกินชุดละ 500 บาท ส่วนเห็นที่เพาะแจกผู้ประสบภัยน้ำท่วม ได้แก่ เห็ดนางรมย์ เห็ดนางฟ้า และเห็ดขอนขาว ทั้งนี้ ผู้ประสบภัยสามารถแจ้งข้อมูลการขอความช่วยเหลือ ผ่าน ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

           นับว่าเป็นอีกหนึ่งในงานด้านการบริการวิชาการ ของคณะวิทยาศาสตร์ ได้นำความรู้ในวิชาชีพ ถ่ายทอดผ่านนวัตกรรมที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างแท้จริง อีกทั้ง ยั้งส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้อย่างยั่งยืนในอนาคต                                             

                                                             เพลิน  วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว




SDG Hashtag :

Tag อื่นๆ :